การเรียนรู้ที่ผู้เรียนและผู้สอนเรียนรู้ไปด้วยกันในสังคมเทคโนโลยี

พุธ ๑๙ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๕:๒๐
ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์ถูกรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ยุคใหม่ ผ่านการบูรณาการข้ามสาขาวิชา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการหนุนเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ในรูปแบบของตัวเองได้

ศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Learning Center) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ "Framing Student & Teacher Learning with Digital Technologies" โดยมี Assoc. Prof. Mark Pegrum จาก Graduate School of Education, the University of Western Australia ผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและการศึกษาระดับโลก เป็นผู้นำเสวนา ในวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สอนและผู้เรียน

ภายในเวทีเสวนา ได้มีการอธิบายถึงกรอบแนวคิดสำคัญที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนและผู้สอน 2 เรื่อง คือ Social Constructivism ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียน ทำให้ผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากผู้ป้อนความรู้เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีหน้าที่ตั้งคำถามและจุดประกายผู้เรียนให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน นำไปสู่การประมวลองค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเอง รวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชันที่เหมาะสมในการอำนวยการเรียนรู้บนฐานแนวคิดเรื่อง Social Constructivism เรื่องที่ 2 คือ Communities of Practice การบ่มเพาะชุมชนการปฏิบัติที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ในหัวข้อที่ตนสนใจด้วยการเข้าไปร่วมเรียนรู้กับชุมชนในฐานะผู้สังเกตการณ์ และร่วมเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญในชุมชนจนมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะเริ่มเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นให้กับสมาชิกในชุมชน ทั้งนี้ได้มีการอภิปรายเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในรูปแบบชุมชนการปฏิบัติสำหรับครูและนักเรียน

นอกจากนี้ Assoc. Prof. Pegrum ได้ชวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom กับแนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ TPACK และ SAMR ซึ่งเป็นรูปแบบบูรณาการความรู้ด้านเนื้อหา การจัดการเรียนรู้ และเทคโนโลยี เข้าด้วยกัน

แนวคิดจากการเสวนาครั้งนี้สอดคล้องกับทิศทางของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในการออกแบบกระบวนการสอนที่เอื้อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยน สังเคราะห์องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมขึ้นจากโจทย์ที่ตนสนใจและตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน เช่น การจัดการเรียนรู้ในนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในชุมชน จนนำสิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนไปต่อยอด สร้างนวัตกรรมใหม่ที่เกิดประโยชน์ และเรียนรู้ร่วมกับชุมชน จนเกิดเป็นองค์ความรู้เฉพาะตนอีกทอดหนึ่งได้ หรือ การบ่มเพาะนักศึกษาให้สามารถเข้าใจประโยชน์ วิธีการ ตลอดจนข้อจำกัดและของการใช้นวัตกรรมและสื่อเทคโนโลยีในการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่สนใจต่อยอดไปเป็นนวัตกรการเรียนรู้ นักศึกษาต้องมีทักษะและความเข้าใจว่าเทคโนโลยีไม่ใช่แค่การยัดเยียดให้ใช้ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีใช้และการเลือกใช้ที่เหมาะสมกับงานและผู้ที่จะเรียนรู้เป็นหลัก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ