31 วัยโจ๋ไทย-ญี่ปุ่นและจีน ผสานความต่าง... สร้างนวัตกรรม “สมาร์ทฟาร์มเห็ด 2018”

ศุกร์ ๒๑ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๑:๓๘
โลกเปลี่ยนด้วยดิจิทัล เทคโนโลยี คลาวด์และไอโอที และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาตลอดเวลา รศ.ดร. คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นประธาน เปิดโครงการ"สมาร์ทฟาร์มเห็ด 2018" ( Project-Based Learning "Smart Farming System for Mushroom Through Multicultural Working Environment") จัดโดยภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศและภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยี ฟูกูโอกะ และ บริษัท ฟูจิตะ คอปอเรชั่น แห่งประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยทงจี จากประเทศจีน โดยนำ 31 นักศึกษาคนรุ่นใหม่จาก 3 ประเทศ ไทย ญี่ปุ่น และจีน มาร่วมทำโครงการร่วมกันภายใต้โจทย์ที่ได้รับ เป็นเวลา 12 วัน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กรุงเทพฯ

นับเป็นโครงการข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามหลักสูตรและข้ามวัฒนธรรมภายใต้การดูแลของ ดร.วสุ อุดมเพทายกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเกษตร และผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ หลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศ โดยมี 31 นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ร่วมศึกษาความรู้และสร้างสมาร์ทฟาร์มเห็ด แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับแจกอุปกรณ์ ประกอบด้วย ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Node MCU) , โมดูลวัดความชื้นและอุณหภูมิ, ท่อพีวีซีสำหรับทำโครงสร้าง, อุปกรณ์ระบบน้ำ, ถุงก้อนเชื้อเห็ด และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยใช้เวลา 4 วัน ในการเรียนรู้และสร้างสมาร์ทฟาร์มหลังจากนั้นมีการบริหารจัดการฟาร์มและเก็บผลผลิตต่ออีก 5 วัน และจัดกิจกรรมทัศนศึกษาที่แหล่งประวัติศาสตร์ในอยุธยาและปลูกป่าชายเลนที่สมุทรสาคร ซึ่งนักศึกษาสามารถสั่งงานและติดตามสถานะของระบบและการเจริญเติบโตของเห็ดผ่านไอโอที หรือสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา ในวันสุดท้ายมีการนำเสนอสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกัน และนำเห็ดที่ปลูกได้มาประกอบอาหารเลี้ยงอำลา

เจีย ชิง เหมา (Jia Qing Mao) สาวน้อยนักศึกษาวัยสดใส 20 ปี จากมหาวิทยาลัย ทงจี เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน

เผยว่า "ประสบการณ์ที่ฉันได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ทำให้ฉันประทับใจมาก ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อบวกกับเทคโนโลยีแล้ว เป็นสิ่งสำคัญกับนวัตกรรมในอนาคต โครงการนี้ทำให้ฉันและทีมได้ใช้ความคิดออกแบบและสร้างสมาร์ทฟาร์มต้นแบบ เป็นทรงสูง Mushroom Tower โดยจะวางอุปกรณ์ควบคุมซึ่งสั่งงานได้จากสมาร์ทโฟนไว้ที่ด้านบนสุด เพื่อง่ายต่อการติดตั้ง ฉันรับหน้าที่สร้างอุปกรณ์ระบบน้ำหยด ซึ่งประหยัดน้ำและให้น้ำได้สม่ำเสมอตามต้องการ ทำให้ฉันได้พัฒนาและเรียนรู้ในการเขียนโปรแกรม ภาษาคอมพิวเตอร์ไปด้วย รู้สึกตื่นเต้นดีใจค่ะที่ได้เห็นเห็ดงอกงาม ความสำเร็จทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการวางแผนที่ดี เตรียมการและการบริหารจัดการให้ดี"

วีรชิต จินตนากุล หนุ่มนักศึกษาไทย อายุ 20 ปี จากวิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า "ทีมเราออกแบบดีไซน์ สมาร์ทฟาร์มเห็ด เป็นโครงสร้าง 2 ชั้น ทรงหน้าจั่วคล้ายวัดไทย ในทีมของผม นักศึกษาจีนสายโยธาเป็นหัวหน้างานโครงสร้าง ส่วนนักศึกษาไทยเรียนมาทางไอที อย่างตัวผมเองได้ดูแลในส่วนโปรแกรมซอฟท์แวร์ โดยเป็นคนเขียนโปรแกรม นักศึกษาญี่ปุ่นมีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ รับหน้าที่หลักต่อสายวงจร ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ไปในตัว เจออุปสรรค เช่น ต่อวงจรผิดบ้าง ระบบเซนเซอร์ไม่ทำงานบ้าง ก็ร่วมมือกันแก้ไขจนสำเร็จ ซึ่งทำให้บรรยากาศการทำงานสนุกสนาน สามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากห้องเรียนได้โดยการลงมือทำ โดยคิดวิเคราะห์ระดมข้อคิดเห็นและตัดสินใจที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุด เราเก็บเห็ดได้ทุกวัน งามดีมากครับ บ้านในเมืองหรือบ้านคอนโดจะมีพื้นที่แคบเล็กลง ก็สามารถทำฟาร์มเห็ดแบบนี้ได้เองบนระเบียง ซึ่งเป็นอาหารปลอดภัยจากสารเคมีด้วยครับ"

เคนยะ คิโนชิตะ (Kenya Kinoshita) หนุ่มนักศึกษาชาวญี่ปุ่น วัย 21 ปี จากสถาบันเทคโนโลยี ฟูกูโอกะ เมืองฟูกูโอกะ กล่าวว่า "ในคอนเซ็ปท์ ระบบสมาร์ทฟาร์มเห็ด สำหรับทีมเราเป็นการนำเทคโนโลยีออโตเมชั่นมาช่วยในเรื่องการประหยัดแรงงานและต้นทุนการเกษตร เทคโนโลยีนี้เหมาะกับสังคมในยุคปัจจุบันที่มีอัตราการเกิดน้อยลง และประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ เราดีไซน์ออกแบบสมาร์ทฟาร์มเห็ดเป็นโครงสร้างทาวเวอร์ 3 ชั้น ผมเขียนโปรแกรม สำหรับการมอนิเตอร์เห็ด ผ่านระบบ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IOTs) ในญี่ปุ่นปัจจุบันเทคโนโลยีเกษตรอัตโนมัติก้าวหน้าเร็วมาก ช่วยตอบโจทย์ในด้านขาดแคลนแรงงานและยังช่วยลดการทำงานเหนื่อยยากในฟาร์มด้วยเทคโนโลยี ทั้งเพื่อน ๆ ไทย จีน ญี่ปุ่น เป็นกันเองและกระตือรือร้น มาช่วยกันทำงานแม้ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ผมหวังว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้รับ มาปรับให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี"

เฉิน คุน หวัง (Zhen Kun Wang) นักศึกษาหนุ่มชาวจีน อายุ 22 ปี จากมหาวิทยาลัย ทงจี ในนครเซียงไฮ้ เผยว่า " เราได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ ที่ใช้พหุศาสตร์หลายสาขา สิ่งที่ผมถนัดในด้านวิศวกรรมโยธา ผมจึงได้ทำหน้าที่ การออกแบบโครงสร้าง สมาร์ทฟาร์มเห็ดโดยดีไซน์เป็นทรง แบบ 4 บวก 2 คือ เสาแนวตั้งใช้ 4 และคานแนวนอนใช้ 2 และช่วยกันสร้างระบบเซ็นเซอร์ เพิ่มความชาญฉลาดให้ฟาร์มนี้ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่จะสามารถควบคุมฟาร์มเห็ดได้ แม้แต่เราจะเดินทางกลับไปประเทศจีนแล้ว เราก็ยังสามารถติดตามและดูแลสมาร์ทฟาร์มได้อีก โครงการนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้และเกิดไอเดียใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ในด้านสารสนเทศปัญญาประดิษฐ์ไปต่อยอดและสร้างอนาคตได้กว้างไกลขึ้นอีก

นับเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดีกิจกรรมข้ามประเทศของคนรุ่นใหม่และสถาบันการศึกษา อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในโครงการอื่นๆในอนาคตเพื่อโลกที่น่าอยู่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้