เกษตรกรปลื้ม “โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค” หนุนเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

จันทร์ ๒๔ กันยายน ๒๐๑๘ ๑๑:๒๑
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน "โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค" ระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม และบริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากนโยบายตลาดนำการผลิต ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ที่ต้องการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจร โดยมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ รับผิดชอบ และกำกับดูแลการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับจังหวัด ซึ่ง ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบจังหวัดนครปฐม ได้ดำเนินการตามนโยบาย "ตลาดนำการผลิต" ขับเคลื่อนเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรผักปลอดภัย โดยจับคู่ธุรกิจระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม และบริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด ซึ่งได้ร่วมมือกันทางธุรกิจใน "โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค" โดยเกษตรกรจะผลิตผักปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ตัดแต่งและคัดบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่มี QR Code ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงความปลอดภัยของสินค้าผัก และส่งจำหน่ายให้บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูป ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะให้การสนับสนุนในการส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ การฝึกอบรมการผลิตผักปลอดภัย การทำปุ๋ยอินทรีย์และชีวภัณฑ์ใช้เองภายในกลุ่มเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการตรวจสอบรับรอง GAP การตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิต และเทคโนโลยีการคัดบรรจุผลผลิตเกษตร ตลอดจนสนับสนุนโรงเรือนปลูกพืช โรงคัดบรรจุ รถห้องเย็นจากงบประมาณกลุ่มจังหวัด เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายคู่ธุรกิจภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของกระทรวงฯ ที่ได้ต่อยอดจากนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP

"ผลจากความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายคู่ธุรกิจภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเรื่องสินค้าคุณภาพปลอดภัย ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้เกษตรกรมี ความมั่นคง ทางอาชีพและรายได้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อส่งจำหน่าย ทั้งในและต่างประเทศซึ่งจะสร้างความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

ด้าน ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผักและผลไม้นครปฐม ประกอบด้วยสมาชิกเกษตรกรของจังหวัดนครปฐมที่มีการผลิตผักและผลไม้ตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกพืช โรงคัดบรรจุ รถห้องเย็น จากงบประมาณกลุ่มจังหวัด แล้วยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผักปลอดภัย GAP และอินทรีย์ ผ่านเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม รวมทั้งการให้การดูแลสนับสนุนการผลิตอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพผักปลอดภัย การใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ตลอดจนการบริหารจัดการผลิตอื่นๆ เช่น การรวมกลุ่ม การทำบัญชี การให้คำแนะนำการจัดทำ QR code เป็นต้น และบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ยินดีให้การสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในตัวอย่าง เพื่อช่วยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการนำผลวิเคราะห์ไปเพื่อดำเนินการให้การรับรอง GAP ให้เกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของเกษตรกรที่ต้องการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเบื้องต้นเกษตรกรจะผลิตผักปลอดภัยตัดแต่งส่งให้บริษัท ซีพีเอฟ ฟู๊ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด ในปริมาณ 7 ตัน/เดือน และจะขยายเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการรับซื้อของบริษัท คือ 30 ตัน/เดือน โดยเริ่มต้นส่งจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป"

ด้าน นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐที่มุ่งสร้างรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร "โครงการตลาดนำการผลิต ผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค" ถือเป็นโครงการที่ดีที่จะก่อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย โดยในส่วนของการจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัทจะได้รับผักจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบ QR code รับรู้แหล่งปลูกที่ชัดเจนและเป็นผักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP ภายใต้การคัดบรรจุและตัดแต่งตามมาตรฐานคุณภาพ GMP และที่สำคัญคือการได้ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรไทยให้มีรายได้และอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการอยู่ อันได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ นอกจากนี้ บริษัทได้ให้การสนับสนุนเงินในการปรับปรุงโรงคัดบรรจุและตัดแต่งให้เป็นไปตามมาตรฐานการตัดแต่งและคัดบรรจุผักสด ทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่าและเงินยืมลงทุน โดยจะเริ่มต้นที่พืชผักประเภทใบกะเพรา ใบโหระพา และพริกขี้หนูพันธุ์จินดาเขียว-แดง ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรจะสามารถปรับปรุงการผลิตและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ตามที่บริษัทต้องการใช้ได้อย่างเพียงพอใน เร็วๆ นี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version