นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนสิงหาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2560 ร้อยละ 4.84 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนสิงหาคม 2561 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2560 ร้อยละ 2.98 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มภาคกลางทั้ง 13 ทุ่งเริ่มทยอยออกสู่ตลาดและเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากในช่วงเดือนตุลาคม ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น และความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการน้อยกว่าผลผลิต อีกทั้งยังมีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการส่งออกชะลอตัว และ ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการใช้และบริโภค
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ มันสำปะหลังราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกฤดูใหม่ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการส่งออกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ลำไย ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน แม้ว่าอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัว
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2560 ร้อยละ 8.06 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้ายางพาราลองกองมังคุดปาล์มน้ำมันและไก่เนื้อ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่สับปะรดมันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม
หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนกันยายน 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2560 ร้อยละ 2.28 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.84 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ยางพาราปาล์มน้ำมันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไก่เนื้อไข่ไก่ และลองกอง ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 6.02 สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สุกรไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไข่ไก่ สุกร
อย่างไรก็ตาม เดือนตุลาคม 2561 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรคาดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีราคาคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และไข่ไก่