ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ด้านวิชาการ และทักษะการปฏิบัติทางวิชาชีพที่เชี่ยวชาญใน 3 กลุ่มความรู้ ได้แก่ กลุ่มการบริหารจัดการ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านการศึกษาแก่สังคม ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ อาทิ การเปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตความแม่นยำสูง หลักสูตรวิทยาศาสตร์เพื่อความงาม การเปิดร้านอาหารไทยฮาลาล การจัดโครงการบริการวิชาการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนผ่าน คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะตอบโจทย์เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตระหนักในความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงสร้างความร่วมมือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยและส่งเสริมงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับงานวิจัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร ตลอดจนผลักดันการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็ง และเกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพให้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านการศึกษา จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย พัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ อันจะเอื้อต่อการพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่าย และจัดทำหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับประสบการณ์ตรงในวิชาชีพ ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นับเป็นความร่วมมือที่พัฒนาครอบคลุมความต้องการของทั้งสองฝ่าย
นอกจากความร่วมมือด้านการศึกษาแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ มีแผนดำเนินการย้ายสำนักงานใหม่ โดยได้เช่าพื้นที่สำนักงานของ มทร.กรุงเทพ เพื่อสร้างเป็น Modern Office นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความสะดวกสบายและทันสมัยมาใช้ พร้อมทั้งมีการเตรียมการจัดตั้ง The Future Technology and Innovation Academy หรือ FTI Academy ขึ้นในพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่นี้ เพื่อรองรับการดำเนินการในการพัฒนาการศึกษาและบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตไว้ 6 ด้าน ได้แก่
1. UP/Re Skill
2. Technology and Innovation
3. Early Recruitment
4. HRD System
5. Skill Standard / Certificate and Databank
6. Incubator
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการกระชับความสัมพันธ์และการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ให้มีความคล่องตัวและชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนของภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ต่อไป