แต่สำหรับที่ โรงเรียนบ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ถึงแม้ว่าเด็กนักเรียนทั้งหมดจะนับถือศาสนาอิสลาม ชุมชนโดยรอบใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร และยังเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามวิถีอิสลามโดยเรียนศาสนา 8 สาระวิชาควบคู่ไปกับสายสามัญ 8 สาระวิชา แต่การเรียนการสอนภาษาไทยกลับไม่มีปัญหา แถมเด็กนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ยังสามารถกวาดรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดการแต่งกลอนในระดับเขตพื้นที่ประถมศึกษา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในพื้นที่กว่า 25 ปีของ "ครูกาญจนา จองเดิม" ที่ได้คิดค้นและนำ "คำคล้องจอง" มาใช้แก้ปัญหาการอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ของเด็กนักเรียน ที่สามารถทำให้เด็กๆ จดจำคำศัพท์ต่างๆ เรียนรู้และเข้าใจภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อพบว่าคำคล้องจองสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยได้ โครงการ "พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยใช้ร้อยกรอง" ภายใต้โครงการ "ส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส" โดยการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นเพื่อขยายผลพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กนักเรียนในทุกระดับชั้นมีทักษะในการพูดอ่านเขียนและใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
"25 ปีที่สอนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้พบว่าเด็กๆ มีปัญหาการเรียนรู้ภาษาไทยเพราะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ประกอบกับภาษามลายูนั้นมีโครงสร้างของภาษาที่แตกต่างกันจึงทำให้เด็กเกิดความสับสนในการที่จะเรียบเรียงเป็นคำพูด ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดหรือว่าสื่อสารมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล รวมไปถึงเรื่องของการเขียนเมื่อมาถึงระดับชั้นประถมศึกษา" ครูกาญจนาเล่าถึงสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่
แต่เดิมการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้นั้น "ครูกาญจนา" ได้สร้างสื่อการเรียนการสอน โดยนำเรื่องราวใกล้ตัวของเด็กๆ จากครอบครัว ชุมชน และขยายวงกว้างออกไปในระดับจังหวัด มาทำเป็นหนังสือเล่มจิ๋วสำหรับเด็กเพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการฝึกทักษะการเขียนและการอ่าน ที่เมื่อมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนชำนาญแล้ว ต่อมาเด็กๆ ก็จะสามารถแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองต่างๆ ขึ้นมาได้
"นวัตกรรมที่ใช้จะเป็นแบบฝึกแล้วก็เป็นหนังสือที่จะพัฒนาการเขียนร้อยกรองของ โรงเรียนบ้านนาประดู่ ที่จะทำให้นักเรียนพัฒนาเรื่องการใช้ภาษาไทยทั้งการอ่านและการเขียน และมีความสุขกับการเรียนรู้เพราะว่ามีเนื้อหาใกล้ตัวกับเด็กนักเรียน มีการนำชื่อของนักเรียนในชั้นมาเป็นตัวละครดำเนินเรื่อง ทำให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้น และสามารถพัฒนาการเขียนร้อยกรองได้ดีขึ้น" ครูกาญจนากล่าว
สำหรับชุดนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนประกอบไปด้วย "แบบฝึกและหนังสืออ่านประกอบ จำนวน 40 เล่ม" ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะในการเขียนกลอนให้เกิดขึ้นสำหรับเด็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงชั้น ป. 6 โดยชั้นอนุบาลหนึ่งจนถึงชั้น ป. 2 จะเป็นแบบฝึกที่พัฒนาการอ่านร้อยกรอง สำหรับชั้นอนุบาลหนึ่งจะเป็นเรื่องสระเสียงยาว อนุบาล 2 จะเป็นเรื่องสระเสียงสั้น ชั้น ป.1 จะเป็นคำคล้องจองที่ตรงกับมาตราตัวสะกด ชั้น 2 เป็นคำคล้องจองที่ไม่ตรงกับตัวสะกด
พอมาถึงชั้น ป.3 ถึง ป.6 จะเป็นหนังสืออ่านประกอบ ป.3 จะเป็นกลอนสี่ ป.4 จะเป็นกลอน 6 ป.5 จะเป็นกลอน 8 และ ป.6 ก็จะเป็นกาพย์ญานี 11 ซึ่งทั้งแบบฝึกและหนังสืออ่านประกอบทั้งหมดพัฒนาและสร้างขึ้นมาโดยอ้างอิงกับหลักสูตรแกนกลางและมาตรฐานตัวชี้วัดต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
โดยผลลัพธ์และความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนจากการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและหนังสือส่งเสริมการอ่านที่สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่สร้างจากเรื่องราวใกล้ตัว โดยมีตัวละคร พระเอกหรือนางเอกของเรื่องที่เป็นตัวของเด็กนักเรียนแต่ละคนเป็นดำเนินเรื่องเพื่อเข้าสู่เนื้อหาสาระในเรื่องต่างๆ ที่ต้องการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านคำคล้องจองที่จดจำได้ง่าย ที่ถูกต่อยอดขยายผลเป็นนิทานเรื่อง "ลากับหมาป่า" ที่เด็กๆ ต่างก็ออกมาแสดงบทบาทเป็นตัวละครสมมุติ พร้อมกับท่องบทร้อยกรองที่มีคำคล้องจองและมีเนื้อที่สนุกได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขตพื้นที่ประถมศึกษาจากการแข่งขันยุวบรรณารักษ์ในปีการศึกษาที่ผ่านมาอีกด้วย
"เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว ตัวละครที่ดำเนินเรื่องก็จะใช้ชื่อนักเรียนหรือชื่อของคุณครูที่เราได้สัมผัสกันอยู่ทุกวันทำให้นักเรียนอยากที่จะรู้ว่าการที่คุณครูสร้างชื่อตัวละครขึ้นมานั้นคือใคร แล้วใครในห้องเรียนที่จะมาเป็นพระเอกนางเอกที่จะนำไปสู่การสอนในเรื่องนั้นๆ" ครูกาญจนา เล่าเทคนิคการสร้างแรงจูงใจในการใช้สื่อการสอน พร้อมกับความคาดหวังในการนำนวัตกรรมการใช้ร้อยกรองพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยต่ออีกว่า
"สิ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงจากการใช้นวัตกรรมนี้ก็คือ เนื่องจากโรงเรียนบ้านนาประดู่จัดการเรียนการสอนแบบ 2 ระบบ นักเรียนที่นี่จะเรียนอิสลาม 8 สาระแล้วก็สามัญ 8 สาระ นักเรียนก็จะมีความสับสน อย่างในวิชาสามัญการอ่านหนังสือจะอ่านจากหน้าไปหลัง ส่วนวิชาศาสนาจะอ่านจากด้านหลังมาด้านหน้า แต่เมื่อเราได้ใช้นวัตกรรมตัวนี้ ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจวิชาสามัญมากขึ้น แล้วเขาก็กลับมาเปิดมาอ่านหนังสือ ก็จะช่วยให้เกิดทักษะในการอ่านและการเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น โดยเป้าหมายก็คืออยากเห็นนักเรียนสามารถอ่านและเขียนและแต่งร้อยกรองได้ ซึ่งที่ผ่านมาร้อยแก้วทำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ แต่การที่สอนนักเรียนให้แต่งร้อยกรองได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า เชื่อมั่นว่าใน อีก 6-8 ปีข้างหน้าการพัฒนาและทักษะภาษาไทยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านนาประดู่จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วเราก็อาจจะมีกวีหรือนักกลอนเกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมนี้" ครูกาญจนากล่าวสรุป
การเปลี่ยนการเรียนรู้ภาษาไทยจากการท่องจำแบบเดิมๆ มาเป็นการเรียนรู้ผ่านคำคล้องจองที่เกิดความเข้าใจในความหมายของคำแต่คำไปพร้อมๆ กันนั้น ทำให้การเรียนวิชาภาษาไทยของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านนาประดู่เป็นเรื่องน่าสนุกและเกิดความสุขในการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านื้ถอว่าเป็นหัวใจสำคัญเพราะเมื่ออ่านออกเขียนได้และเข้าใจภาษาไทย ก็จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในสาระวิชาอื่นๆ ที่จะให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นรวมถึงการดำรงชีวิตในอนาคต.