ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ดำเนินกิจกรรมตามระบุไว้ในแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียนปี 2559 - 2568 โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการจัดนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการร่วมกับอาเซียน และการจัดโครงการในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย
สสว. จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาตาม " โครงการ Micro Enterprise ในอาเซียน +8 และการจัดทำ Credibility Index for MSMEs " อันจะช่วยในการจัดทำมาตรการและนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทะเบียนผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยได้ต่อไป
ทั้งนี้ วิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยได้มีการประเมินว่ามีวิสาหกิจรายย่อยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย ซึ่งวิสาหกิจเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานและส่งผลในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ หากแต่วิสาหกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญการลงทะเบียนในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ภาครัฐจึงไม่สามารถดำเนินมาตรการส่งเสริมได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ ยังคงมีคุณลักษณะและความต้องการที่ต่างกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยหากภาครัฐสามารถสำรวจข้อมูลของวิสาหกิจรายย่อยได้ ก็จะสามารถดำเนินนโยบายในการส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพ ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโตและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้ต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาหลักประการสำคัญของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หากแต่การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันทางการเงินส่วนใหญ่จะใช้หลักประกัน (Collateral) เป็นเกณฑ์หลักในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ MSMEs ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอในการขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ จึงทำให้ไม่ได้รับเงินกู้ในการขยายกิจการ หรือการเพิ่มสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ โดยในหลายประเทศได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ และมีระบบและรูปแบบในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ MSMEs ที่ต่างไป ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ MSMEs ได้มากขึ้น
ดังนั้น การศึกษา Micro Enterprise ในอาเซียน+8 และการจัดทำ Credibility Index for MSMEs จะช่วยในการจัดทำมาตรการและนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทะเบียนผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ได้ในอีกทางหนึ่งเมื่อได้มีการพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการนอกเหนือจากการพิจารณาถึงหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหลัก โดยผลการศึกษาจะเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายและมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการได้ต่อไป