จากกรณีที่เคยมีข่าวเพิ่มค่าปรับหลายหมื่นบาทกับคนไม่มีใบขับขี่นั้น ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้ทำสำรวจโพล เรื่อง กฎหมายจราจร กับ ความปลอดภัย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนคนใช้รถใช้ถนนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,135 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 10 - 26 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.3 รู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาข้ามถนนบนทางข้าม (ทางม้าลาย ตามกฎจราจร) ขณะมีรถยนต์ขับไปมา เพราะรถไม่ยอมจอดให้คนข้าม ในขณะที่ร้อยละ 13.7 รู้สึกปลอดภัย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 65.1 รู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาข้ามถนนบนทางข้าม ทั้งที่มีสัญญาไฟแดงให้รถหยุด เพราะ รถมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ไม่ยอมหยุดฝ่าไฟแดงตรงไม่มีกล้อง ไม่มีตำรวจ และเคยมีข่าวคนบาดเจ็บเสียชีวิตมาแล้ว ในขณะที่ ร้อยละ 34.9 รู้สึกปลอดภัย
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงสาเหตุของความไม่ปลอดภัยทางถนน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 ระบุเพราะพฤติกรรมแย่ ทำคนไม่ปลอดภัย เช่น ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ขับรถไล่บี้จี้ท้ายรถคันอื่น ตำรวจไม่คอยกวดขัน ไม่จัดการคนผิดปล่อยลอยนวล รองลงมาคือ ร้อยละ 69.3 ระบุ คนไม่มีวินัย ไร้จิตสำนึก ไม่ทำตามกฎจราจร ทั้งคนขับและคนเดินถนน ร้อยละ 62.4 ระบุ เมาแล้วขับ สภาพคนขับไม่พร้อม ร้อยละ 60.8 ระบุ ขาดเทคโนโลยี ควบคุมคนขับและคนข้าม ร้อยละ 55.9 ระบุ สภาพรถ มีปัญหา ระบบเบรก ระบบไฟหน้ารถ ไฟขอทาง ร้อยละ 54.6 ระบุ คนฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเป็นผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 53.7 ระบุ สภาพถนนไม่ปลอดภัย มีก่อสร้าง มีด่าน แจ้งล่วงหน้ากระชัดชิด ร้อยละ 51.9 ระบุ ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ในการบังคับใช้กฎหมาย และร้อยละ 24.5 ระบุอื่นๆ เช่น สภาพอากาศ รถจอดในที่มืด มองไม่เห็น ป้ายโฆษณาบัง คนขับมอเตอร์ไซต์เบียดซ้าย เบียดขวา ความไม่มีน้ำใจของคน เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 เคยพบเห็น พวกขับรถเร็วเกินกำหนดแล้ว ไล่บี้จี้ท้ายรถนคันอื่น ขับรถประมาทหวาดเสียว ไม่ถูกจับกุม ไม่ถูกลงโทษ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.5 ไม่รู้แน่ชัด ถึง ไม่รู้เลยเกี่ยวกับ ค่าปรับ โทษปรับ พวกขับรถเร็วเกินกำหนด ในขณะที่ ร้อยละ 36.5 รู้ว่า โทษปรับพวกขับรถเร็วเกินกำหนด จ่ายแค่ 500 ถึงหลักพัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.2 ไม่รู้แน่ชัด ถึง ไม่รู้เลยว่า โทษปรับพวกเมาแล้วขับ เท่าไหร่ ในขณะที่ ร้อยละ 23.8 รู้
ที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายเพิ่มค่าปรับสูงสุดหลักหมื่นบาท จัดการพวกขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดติดตามจับกุมถึงที่สุด และส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 80.7 ระบุ ควรลงโทษสูงสุด กับพวกขับรถเร็วเกินกำหนด เมาแล้วขับ เพราะทำให้คนอื่นไม่ปลอดภัย สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 ระบุเห็นด้วยต่อ การแก้ไขกฎหมายจราจร ให้นำเงินค่าปรับไปพัฒนาด้านต่าง ๆ มากกว่าให้ตำรวจอย่างเดียว เช่น เพิ่มความปลอดภัยบนถนน พัฒนาห้องสมุดประชาชน พัฒนาท้องถิ่นที่คนทำผิด และพัฒนาประเทศโดยรวม เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 4.2 ไม่เห็นด้วย