นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเดินหน้ามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะเรือนกระจกของโลก โดยในปี 2561 ได้ดำเนินโครงการด้านประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย การเข้าร่วมโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศขนาดใหญ่กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 31 โครงการ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,183 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการซีพีเอฟ โซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาขนาด 40 เมกะวัตต์(MW) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นการปลูกต้นสักถึง 1,440,000 ต้น และสามารถช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าขององค์กรได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากัลฟ์ซึ่งผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งดำเนินการใน 3 โรงงาน คือ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหนองแค โรงงานอาหารแปรรูปสระบุรี และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี คาดช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,644 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเปลี่ยนใช้ชีวมวลแทนถ่านหินของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ราชบุรี คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ เท่ากับ 11,229 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพ Complex ไก่ไข่ คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20,239 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
"คาดว่าเมื่อดำเนินโครงการต่างๆแล้วเสร็จ ในปี 2562 จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ 43.45 ล้านเมกะจูลต่อปี ลดลง 0.42% เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2558) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 76,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดลง 8.66 % เมื่อเทีบบกับปีฐาน " นายจารุบุตรกล่าว
ในระหว่างปี 2558 – 2560 ซีพีเอฟดำเนินโครงการด้านการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีจำนวนทั้งหมด 184 โครงการ สามารถลดการใช้พลังงานได้ 133,760 กิกะจูล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 27,108 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ ซีพีเอฟสนับสนุนให้โรงงานและฟาร์มมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)หรืออบก. ซึ่งในปี 2561 อบก.ได้มอบประกาศนียบัตรให้สถานประกอบการ 59 แห่งของซีพีเอฟที่ร่วมโครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้นไม้กักเก็บจากการปลูกต้นไม้ทั้งสิ้น 7,761 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมอบเกียรติบัตรคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ให้สถานประกอบการของซีพีเอฟ 2 แห่ง คือ โรงงานอาหารสำเร็จรูปแปดริ้ว และโรงงานอาหารสำเร็จรูปสัตว์น้ำมหาชัย โดยในส่วนของโรงงานอาหารสำเร็จรูปแปดริ้ว ดำเนินโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint for Organization)ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย(Thailand Voluntary Emission Reduction :T-VER )โดยได้รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนโรงงานอาหารสำเร็จรูปสัตว์น้ำมหาชัยได้รับเกียรติบัตร ดำเนินโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยในปี 2560 มีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 37.2 % เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2557)
ทั้งนี้ ซีพีเอฟกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน คือ ด้านพลังงาน ก๊าซเรือนกระจก การนำน้ำมาใช้ และปริมาณของเสียฝังกลบ โดยกำหนดเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2563 หรือปี ค.ศ. 2020 ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนักผลผลิตให้ได้ร้อยละ 15 ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 15 ลดปริมาณการนำน้ำมาใช้ให้ได้ร้อยละ 25 และลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยวิธีฝังกลบให้ได้ร้อยละ 30