ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 11,361,800 คน ในหัวข้อเรื่อง สื่อร้ายกับยาบ้าในวัยโจ๋ โดยทำการสุ่มตัวอย่างออกมาทั้งสิ้น 1,325 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 - 28 กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ระบุ สื่อสร้างสรรค์ของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่น่าสนใจ ยังไม่โดนใจเพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 25.1 ระบุน่าสนใจเพียงพอแล้ว
ที่น่าเป็นห่วงคือ ประสบการณ์เคยดูสื่อลามกในโลกโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 เคยดู เคยใช้ เช่น ดาวน์โหลดคลิปลามกดัง ดาวน์โหลดภาพ เปิดดูเฉย ๆ เป็นต้น โดยวิธีการเข้าดู เข้าถึงสื่อลามกในโลกโซเชียลที่ใช้บ่อยที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 42.3 ระบุค้นหาด้วยตนเอง ร้อยละ 41.8 รับรู้ผ่านการส่งต่อในโลกโซเชียล และร้อยละ 15.9 เพื่อนแนะนำ บอกต่อ ตามลำดับ
และผลประมาณการทางสถิติจำนวนเด็กและเยาวชน ติดเกมส์ ติดสื่อลามก ติดความรุนแรง พบว่า มากที่สุดคือ ติดเกมส์ เล่นเกมส์เกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันมีอยู่ 3,141,512 คน (สามล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบสองคน) ติดความรุนแรงคือ คำพูดรุนแรง และ การกระทำทำทุกวันต่อสัปดาห์มีเฉียดล้านคนคือ 997,448 คน (เก้าแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยสี่สิบแปดคน) และ ติดสื่อลามก เปิดดูเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อสัปดาห์ มีอยู่ 775,394 คน (เจ็ดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันสามร้อยเก้าสิบสี่คน)
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ยาไอซ์ขึ้นแซงยาบ้าและกัญชา มาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 845,732 คน (แปดแสนสี่หมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสามสิบสองคน) ใช้กัญชา จำนวน 839,116 คน ยาบ้า จำนวน 695,851 คน
ที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ เฮโรอีน กลับมาแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน จำนวน 89,344 คน และอื่นๆ ได้แก่ โคเคน ยาเค ยาอี เป็นต้น จำนวน 42,197 คน ผู้อำนวยการ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของสื่อสร้างสรรค์พลังบวกยังเข้าไม่ถึง ยังไม่โดนใจเด็กและเยาวชนให้น่าสนใจติดตามและยังไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะจำนวนเด็กติดเกมส์ที่สูงร่วม 3 ล้านคนทั่วประเทศและเฉียดล้านคนที่ติดความรุนแรง และในประเด็นความรุนแรงนี้น่าจะมาจาก ผู้ใหญ่ในสังคมและครอบครัวที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีใช้คำพูดรุนแรง อารมณ์รุนแรงออกสื่อ การเมืองที่รุนแรง และพ่อแม่ญาติพี่น้องคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงใส่กัน และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยาไอซ์กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับแรก ยาบ้าตกลงไปอยู่ในอันดับสาม และเฮโรอีนกำลังกลับมา นี่สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้ง 4 ด้าน คือ การป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษาและการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์