จากการศึกษาของข้อมูลด้านโภชนาการของประเทศไทยปี 2561 พบว่าประชาชนชาวไทยเข้าเกณฑ์อ้วนและเป็นโรคอ้วนร้อยละ 11 และร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันตรงกันว่า ความอ้วนมีผลเสีย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ได้แก่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จำเป็นต้องให้การรักษาต่อเนื่องเพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่เพียงเท่านี้โรคอ้วนยังส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะต้นทุนต่อสังคมของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมีมูลค่ากว่า 12,142 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.13 ของจีดีพีประเทศไทย โดยแบ่งเป็นต้นทุนทางตรงจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 5,584 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนทางอ้อมคือจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมถึงปัญหาของขาดงานมีมูลค่ารวมกว่า 6,358 ล้านบาท และผู้ที่เป็นโรคอ้วนไม่เพียงแต่มีความทุกข์ในด้านการเจ็บป่วยของร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังคงมีปัญหาทางด้านจิตใจร่วมด้วย เช่น มีความเครียดจากสรีรภาพและสุขภาพ การโดนล้อเลียน ส่งผลให้โดนจำกัดโอกาสต่าง ๆ ทางสังคม เช่นไม่สามารถทำงานบางอย่างได้ ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าและอาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในที่สุด
โรคอ้วนนั้นเกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารที่มากเกินไป การกินอาหารที่มีพลังงานมาก โดยทั้งที่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงมีการออกกำลังกายน้อย จึงส่งผลให้เกินมีภาวะโรคอ้วนเกิดขึ้น ปัจจุบันการรณรงค์การให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายของความอ้วน นั้นแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักภัยอันตรายของโรคอ้วนว่าเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ด้วยความร่วมมือของทางภาครัฐและภาคเอกชน ทำประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การลดน้ำหนักจากทางด้านสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารที่ถูก การแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม อีกทั้งมีการรณรงค์ทางสังคมในการออกกำลังกาย มีการปลูกฝังค่านิยมในการออกกำลังกายมากขึ้น และทางรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาและต้นตอสาเหตุของโรคอ้วน และได้จัดนโยบายเพื่อควบคุมสาเหตุดังกล่าว เช่น การจัดเก็บภาษีของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้มากขึ้น การห้ามใช้ไขมันทรานซ์ในการประกอบอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเพื่อให้น้ำหนักลดลง อาจไม่สามารถทำได้ทุกราย เนื่องจากกิจวัตรประจำวันและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน การทำงานจนขาดเวลาในการออกกำลังกาย หรือบางท่านที่มีน้ำหนักตัว มีปัญหาปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อจนไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายได้ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนในลักษณะนี้มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติตัวได้ดีเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะลดน้ำหนักลงมาได้ คนกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องหาทางออกโดยการรับประทานยาที่มีสรรพคุณที่คิดว่าสามารถลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายอย่างแพร่หลายในสังคมโซเชียลมีเดีย โดยแท้จริงแล้วยาเหล่านั้นทำให้มีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกายมาก และส่งผลให้สุดท้ายน้ำหนักกลับมากเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า
ปัจจุบันการผ่าตัดลดน้ำหนัก เป็นวิธีการรักษาโรคอ้วนได้ดี สามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกจ่ายและรักษาได้ในทุกเครือข่ายของการประกันสุขภาพของคนไทย ลักษณะของการรักษาจะเป็นการผ่าตัดโดยทำการเปลี่ยนแปลงทางเดินอาการให้มีขนาดเล็กลง และ/หรือ มีการทำให้การดูดซึมอาการลดลง อีกทั้งมีการเปลี่ยนทางด้านฮอร์โมน ลำไส้ ส่งผลให้น้ำหนักตัวของผู้ป่วยลดลง และสามารถรักษาโรคร่วม ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งนอกจากน้ำหนักและโรคร่วมต่าง ๆ ได้หายไปแล้ว ยังคงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสทางสังคมที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้เป้าหมายของการผ่าตัดไม่ได้เพื่อความสวยงามแต่อย่างใด
การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดที่มีมาระยะเวลานานแล้ว แต่ว่ายังคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประชาชนชาวไทย การผ่าตัดจะได้ผลดีจำเป็นต้องทำให้สถานพยาบาลที่มีการดูแลโดยสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ เพื่อให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดออกมาดีและปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งศูนย์ผ่าตัดลดอ้วน ลดโรค โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์การผ่าตัดลดน้ำหนักที่ได้มาตรฐานเป็นสมาชิกของสมาพันธ์การผ่าตัดลดน้ำหนักนานาชาติ มีทีมงานสหสาขาวิชาชีพช่วยกันดูแลผู้ป่วย อีกทั้งมีประสบการณ์ในการผ่าตัดร่วม 200 รายแล้ว จึงเป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่สามารถช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้ที่เป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ ได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคอ้วนได้เลย หากท่านไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนชีวิตของท่านเอง แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจจริง ความสำเร็จที่น้ำหนักลง และข้อดีต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้ว จะเป็นรางวัลที่สูงค่าของตัวท่านเอง ซึ่งท่านสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า ขอบคุณการผ่าตัดที่ช่วยให้ชีวิตใหม่ และเปลี่ยนชีวิตคนอ้วนได้อย่างยั่งยืน