นางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้จำนวน 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.0 ต่ำกว่าปีก่อนร้อยละ 2.6 (ปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ร้อยละ 94.6) โดยรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 373,034 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 ต่ำกว่าปีก่อนร้อยละ 9.4 (ปีงบประมาณ 2560 เบิกจ่ายได้ร้อยละ 65.9) ในส่วนของเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี เบิกจ่ายแล้วจำนวน 215,098 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 323,948 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66.4
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมบัญชีกลางได้เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการซ้อมความเข้าใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดจัดการหาพัสดุฯ ไปก่อนหน้านี้ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถเริ่มกระบวนการจัดหาพัสดุได้ตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหากเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเริ่มเมื่ออนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายหน่วยงานของรัฐเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หากเป็นกรณีเงินงบประมาณที่ต้องดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติให้โอนหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย หรือสำนักงบประมาณได้อนุมัติ แล้วแต่กรณี สามารถเริ่มดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจะลงนามได้เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ และได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ หากหน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จะช่วยให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะให้แต่ละหน่วยงานตั้งคณะทำงานดูแล ติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน และแจ้งปัญหาอุปสรรค เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และส่งผลให้เม็ดเงินในการเบิกจ่ายช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย นางญาณี กล่าว