นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจการพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ประสานความร่วมมือกับ JETRO (Japan External Trade Organization) เพื่อเชื่อมโยงกับบริษัทชั้นนำประเทศญี่ปุ่น JMA Management Center Inc.(JMAM) ที่มีภารกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรอบรมและการจัดทำระบบ E-Learning ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในระดับช่างเทคนิคโรงงานไทยสู่สมรรถนะการบริหารจัดการและการจัดการเทคโนโลยี ที่ต้องตระหนักถึงคุณภาพ ค่าใช้จ่าย ระยะเวลาส่งมอบงาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มิใช่เพียงในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะสามารถนำไปใช้กับทุกโรงงานที่มีความต้องการในการพัฒนาบุคลากรของตน โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะเป็น ผู้กำหนดให้เป็นสมรรถนะและสร้างกระบวนการประเมิน นอกจากนี้ ยังร่วมมือในการจัดทำระบบ E-Learning ซึ่งเป็นแนวทางที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดำเนินการอยู่ในการตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 การพัฒนากำลังคนของรัฐบาลที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม First S New S Curve รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์เป้าหมายตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มมาตรฐานอาชีพที่เป็นความต้องการในตลาด อาทิ โลจิสติกส์ บริการยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ICT ระบบราง ซ่อมอากาศยาน อุตสาหกรรมพลาสติก อาชีพความปลอดภัยในการทำงาน ปิโตรเลียมปิโตรเคมี หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ครูฝึกในสถานประกอบการ เป็นต้น และยังได้เริ่มพัฒนาโครงการ E-Training เข้าไปในระบบฐานข้อมูลของสถาบัน โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ใน 87 สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย สาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ โลจิสติกส์ ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการนำเที่ยว (มัคคุเทศก์) อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจการบิน ICT และแมคคาทรอนิกส์
"ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่าง JMAM และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเมินและรองรับกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงได้ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสาขาช่างเทคนิคในโรงงานและการสร้างการเรียนรู้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Learning ที่จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งฝ่าย JMAM จากประเทศญี่ปุ่น ยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในประเทศไทย และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน"นายพิสิฐ กล่าว
ด้าน นายทาเคชิ ฮาเซกาวา ประธานกรรมการ JMA Management Center Inc. (JMAM) กล่าวว่า JMAM เป็นองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมการจัดการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ผ่านนวัตกรรมการวิจัยและการศึกษาการจัดการ โดยใช้การจัดการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดึงสมรรถนะของบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิเช่น การศึกษาทางไกล (Correspondence courses)การเรียนรู้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning Library(R)) การฝึกอบรมแบบกลุ่ม (Group training) และการประเมิน (Assessments) ในการพัฒนาบุคลากรโรงงานให้มีสมรรถนะด้านการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มประสิทธิผลด้วยการพัฒนาในแนวทางยกระดับสมรรถนะของบุคลากรผ่านกระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจในสายการปฏิบัติงาน ซึ่งในความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ TPQI จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรของประเทศไทย และสามารถยกระดับมาตรฐานอาชีพสู่สากลได้