วว./โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานีวิจัยต้นแบบวัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าวทดแทนสารดูดความชื้น นวัตกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งการเกษตร ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ ช่วยลดปริมาณขยะ

พุธ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๔๙
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยจังหวัดปทุมธานี ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบวัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าว สำหรับใช้ทดแทนสารดูดซับความชื้นเพื่อใช้งานทางการแพทย์ มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ ระบุเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ช่วยลดปริมาณขยะ ขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เผยผลงานวิจัยคว้ารางวัลระดับนานาชาติจากเวทีประกวดสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมหวังต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ป้อนภาคอุตสาหกรรม

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนากลุ่มพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวว่า วว. โดย ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาผลิตซีโอไลท์จากของเสียภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ในการดูดซับของเสีย ได้เป็นที่ปรึกษาพิเศษให้แก่ นางสาวภาพร ศรีสันติสุข และนายธีร์ธัช ภัทรวโรดม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ในการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง "วัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าว" หรือ Zeo Urea-Fabric เพื่อใช้งานทางการแพทย์กับผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยผลิตภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตอบโจทย์สังคมผู้มีรายได้น้อย จากการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง วว. กับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้นำองค์ความรู้ประกอบกับความเชี่ยวชาญจากโครงการวิจัยที่แล้วเสร็จ สามารถประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบวัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าว ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ เพื่อใช้ทดแทนสารดูดซับความชื้นในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้าร่วมประกวดแข่งขันผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน The 10th International Exhibition of Inventions (IEI) & The 3rd Word Invention and Innovation Forum (WIIF) Foshan China ณ เมืองฝอซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสามารถคว้ารางวัลมาได้จำนวน 2 รางวัล (จากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 253 ผลงาน จาก 49 ประเทศทั่วโลก) ได้แก่ 1.รางวัล Silver Medal จากคณะกรรมการการประกวด และ 2.รางวัล Young Innovator Award จาก Citizen Innovation ประเทศสิงคโปร์

"...ขอชื่นชมคนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ที่ได้นำปัญหาใกล้ตัวมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้ ทั้งนี้คลื่นลูกหลังจะต้องแรงกว่าคลื่นลูกแรก หากไม่เช่นนั้นประเทศจะอยู่ลำบาก คนรุ่นใหม่จะต้องมีความคิดเริ่มต้น ความคิดสร้างสรรค์ที่ผลิตผลงานออกมาให้เป็นนวัตกรรม สังคมผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่จะต้องตระหนักร่วมกัน การที่คนหนึ่งคนจะสนับสนุนท่านเหล่านั้นได้ต้องมีการพัฒนาปลูกฝังบุคลากรให้เป็นผู้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานและมีประสิทธิผล ความสำเร็จจากโครงงานวิทยาศาสตร์นี้คือหนึ่งตัวอย่างในการเตรียมคนเพื่ออนาคต..." ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ กล่าวสรุป

นางสาวภาพร ศรีสันติสุข นายธีร์ธัช ภัทรวโรดม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนายชิตพงษ์ เหนือเกาะหวาย อาจารย์จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการจัดทำโครงการวิทยาศาสตร์วัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าวนั้น มีผลสืบเนื่องจากประเทศไทยมีการทำเกษตรกรรมและมีวัสดุเหลือทิ้งคือตอซังข้าวจำนวนมาก ซึ่งจะมีการเผาทำลายทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลงานวิจัยของไทยและต่างประเทศ พบว่า ดร.เรวดี อนุวัฒนา จาก วว. มีผลงานวิจัยและมีความเชี่ยวชาญในการผลิตซีโอไลท์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าเป็นวัสดุดูดซับน้ำเสียและอากาศ โดยผลงานวิจัย วว,สามารถนำไปใช้ได้จริงในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน จึงได้เรียนเชิญ ดร.เรวดี อนุวัฒนา มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษในการดำเนินโครงงานฯ และได้มีโอกาสเข้ามาทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันจนประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากงานอื่นๆ ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากประกวดนวัตกรรมที่ประเทศจีน ดังนี้ 1.เป็นผลงานที่ได้จากการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง 2.ผลิตภัณฑ์มีความสามารถในการดูดความชื้นและกลิ่นได้ดี 3.สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และ 4.เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เนื่องจากย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะได้ในที่สุด

ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. กล่าวว่า ขณะนี้ วว. และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี อยู่ในระหว่างการพัฒนาคุณสมบัติให้สามารถตอบโจทย์แก่กลุ่มผู้ใช้งาน ทั้งนี้มีแผนเพื่อยื่นจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ต้นแบบวัสดุดูดซับยูเรียด้วยซีโอไลท์จากตอซังข้าว นับเป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่ได้นำองค์ความรู้ในผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จร่วมกับความเชี่ยวชาญ สู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้พัฒนาศักยภาพและปลูกฝังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จนก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงและช่วยแก้ปัญหาของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นความสำเร็จในการพัฒนาเป็นต้นแบบซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อยอดร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนาสัดส่วนวัตถุดิบ ส่วนประกอบทางเคมี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเสถียรยิ่งขึ้นและได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

สอบถามรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. (ดร.เรวดี อนุวัฒนา) โทร. 0 2577 9000 Call center 0 2577 9300 ในวันและเวลาราชการ E-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ