บอร์ด NFC ไฟเขียวสยายปีกสู่ธุรกิจขนส่งปิโตรฯ ทุ่ม 801 ลบ. เทกฯ“เอส ซี แคริเออร์”/รับรู้รายได้ทันที แจกวอร์แรนต์ในอัตรา 10:1

พุธ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๕๒
NFC เปิดเกมรุก! เตรียมโชว์ฟอร์มเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ บอร์ดอนุมัติทุ่มเงินกว่า 801 ล้านบาท เทกโอเวอร์ "เอส ซี แคริเออร์" ผู้ให้บริการขนส่งปิโตรฯ หวังต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต คาดปิดดีลภายในสิ้นปีนี้ พร้อมแจกวอร์แรนต์ (NFC-W1) ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นของขวัญก่อนปีใหม่ ในอัตรา 10 หุ้นสามัญต่อ 1

นายกิจจา สมัญญาหิรัญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารองค์กรบริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) (NFC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มีมติอนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญ 4,500,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 100 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด (SCC) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งทางบกประเภทวัตถุอันตรายในกลุ่มปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ จากผู้ถือหุ้นเดิมของ SCC ในราคาหุ้นละ 178 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 801 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมของ SCC 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอส ซี ออโต โลจิสติกส์ จำกัด (SCA) และบริษัท เอส ซี ออฟชอร์ เซอร์วิส จำกัด (SCOS) ซึ่งถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ SCC เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับบริษัท

ปัจจุบัน SCA มีนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 63.46 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 93.90 และมีกรรมการร่วมกันกับบริษัท ได้แก่ นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี และนางบงกช รุ่งกรไพศาล

ส่วน SCOS มีนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 63.46 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 97.67 และมีกรรมการร่วมกันกับบริษัท ได้แก่ นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี และ นางบงกช รุ่งกรไพศาล คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2561 โดยเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนในครั้งนี้มาจากเงินทุนหมุนเวียนและกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ยังอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 1 (NFC-W1) จำนวนไม่เกิน 108,783,306 หน่วย ให้แก่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในอัตราส่วน 10:1 โดยใบสำคัญแสดงสิทธิมีอายุ 3 ปี และใช้สิทธิปีละ 2 ครั้ง ในราคาการใช้สิทธิ 6.50 บาท ต่อหุ้น

ขณะเดียวกันยังมีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 81,587,480 บาท จากเดิม 815,874,792 บาท เป็น 897,462,272 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 108,783,306 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.75 บาท

ทั้งนี้ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 (Record Date) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 และจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ในวันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2561

"มั่นใจว่าการเข้าลงทุนใน SCC ในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฯขยายสู่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการท่าเทียบเรือ คลังสินค้าเหลว จนถึงการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว ซึ่งจะดำเนินการโดย SCC เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีฐานการผลิตส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทในระยะยาว"

นายกิจจา กล่าวอีกว่าภายหลังการเข้าทำรายการในครั้งนี้ SCC จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ NFC โดยบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าของ SCC ได้โดยทันที ซึ่งในการจัดทำงบการเงินของบริษัทจะสะท้อนภาพรวมของฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของทั้งบริษัทและ SCC ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ที่สูงขึ้นและมีกระแสเงินสดและสภาพคล่องที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการลงทุนพัฒนาโครงการอื่นของบริษัทในอนาคต

อนึ่ง SCC ได้เริ่มให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตั้งแต่ปี 2539 ด้วยการบริหารจัดการงานขนส่งภายใต้มาตรฐานสากลและการมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยอย่างสูงสุด ทำให้ SCC ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำรายใหญ่ของประเทศ อาทิ ปตท. , Shell และ Esso อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 SCC เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 8 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี กำแพงเพชร ลำปาง สระบุรี ปทุมธานี เชียงราย และราชบุรี เนื้อที่รวม 78 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา นอกจากนี้ SCC ยังถือสิทธิการเช่าที่ดินอีก 7 แห่ง เนื้อที่รวม 48 ไร่ 0 งาน 6 ตารางวา ซึ่งใช้เป็นจุดจอดพักรถ ศูนย์ปฏิบัติการ และศูนย์ซ่อมบำรุงรักษารถขนส่ง

นอกจากนี้ ยังมียานพาหนะสำหรับให้บริการขนส่งทางบกประเภทวัตถุอันตราย ในกลุ่มปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ประกอบด้วย รถหัวลาก หางเทรลเลอร์ และหางแท็งค์สำหรับบรรทุกของเหลว จำนวนรวม 814 คัน ซึ่งผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ได้ประเมินว่าทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีการดูแลรักษาอย่างดี โดยมีมูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 รวม 930 ล้านบาท และมูลค่ายุติธรรมรวม 1,581 ล้านบาท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ