สสส.ปลุกพลังดนตรีเปิดลานละเล่น ผ่านโครงการฟ้าใสโมเดล

พฤหัส ๐๔ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๕๓
"เพราะเราเชื่อเสมอว่า ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะทางด้านสมองและอารมณ์ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นเครื่องบำบัดและฟื้นฟูจิตใจและยังเป็นการสร้างเยาวชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง" ความตอนหนึ่งในโครงการประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู้ฟ้าใสโมเดล จัดโดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และภาคีเครือข่าย ณ โรงเรียนฟ้าใสวิทยา

นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในสังคมไทยที่เกิดขึ้น โดยมากต้นเหตุมักจะมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ โลภะคือความโลภ ความอยากได้ และต้องได้มาแม้ต้องทำในสิ่งที่ผิดก็ตาม ตัวอย่างเช่น การค้ายาเสพติด การลักขโมย การชิงทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าก็บอกว่าอย่าโลภ โทสะคือความโกรธ ความบันดาลโทสะ จนทำร้ายฝ่ายตรงข้ามจนถึงแก่ความตาย ถึงแม้จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไปฆ่าเขาก็ตาม หรือการทะเลาะเบาะแว้ง การแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยมุ่งหมายทำร้ายฝ่ายตรงข้าม โมหะคือความลุ่มหลง หลงในอบายมุข หากเราสามารถจัดการตนเองได้ตั้งแต่ต้นก็ไม่มีเรื่องเหล่านี้ คือไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่มีการเข่นฆ่า ไม่มีการจองเวรจ้องจะทำร้ายกัน ผมเชื่อว่าเยาวชนคือผ้า และเกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือครอบครัว พ่อแม่ คุณครู เพื่อน และเมื่อเยาวชนต้องถูกลงโทษ กักขัง ผมเชื่อว่าเด็กเขาจะมีความเครียด กดดัน อยากออกไปสู่โลกภายนอก ตอนนี้เขาเหมือนนกที่มีปีก แต่บินออกจากกรงไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ฉะนั้น การดูแลและการเยียวยาจิตใจ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจของ สสส. ในการหาตัวช่วยให้เยาวชนในบ้านต่างๆ ดนตรี จึงเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ของการบำบัดจิตใจมากที่สุด เพราะเสียงดนตรีทำให้คนเล่นและคนฟังผ่อนคลายความกังวล ลดความขัดแย้ง ทำให้จิตใจของเขาอ่อนโยน สร้างสัมพันธ์ที่ดีและก่อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มเพื่อน เพราะ สสส. ยึดมั่นในการพัฒนาเยาวชนและเชื่อว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ จึงร่วมมือกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จัดโครงการประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู้ฟ้าใสโมเดล โดยการนำดนตรีเข้าไปช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้กับเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา บ้านกาญจนาภิเษก บ้านมุทิตา บ้านสิรินธร โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ สถานแรกรับเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจฯ จังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา เปิดเวทีแข่งขันการประกวดดนตรีโฟล์คซอง ครั้งที่ 1 "เปิดลานละเล่น แลกเปลี่ยน เรียนรู้" ซึ่งทุกวงทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อว่า นี่คือเยาวชนที่ไม่เคยจับเครื่องดนตรีมาก่อน เขาเล่นดนตรีอย่างมีความสุข มีแววตาที่สดใสมากขึ้น เขามีความสุขที่ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ได้ส่งต่อบทเพลงผ่านน้ำเสียงและเสียงดนตรี อย่างน้อยทำให้เขาได้ผ่อนคลายความทุกข์ภายในจิตใจ ดนตรีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้ามาบำบัดจิตใจเช่นกัน ดนตรีจะช่วยให้เขาสามารถปรับตัวได้เมื่อต้องกลับคืนเข้าสู่สังคมครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่าเสียงดนตรีเป็นพลังงานที่สำคัญมาก พลังงานของสียงดนตรีจะเข้าไปอยู่ในจิตใจผู้เล่นและผู้ฟังผ่านรูขุมขน สังเกตได้จากถ้าเพลงที่เราชอบ ขนก็จะลุก เมื่อขนลุกแล้วจะเกิดช่องว่างในจิตใจ ทำให้ความสุขเข้าไปแทนที่ นั่นคือพลังของเสียงดนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งเสมอว่า เมื่อท่านทรงดนตรี เสียงดนตรีจะช่วยขจัดความเจ็บปวดในจิตใจ ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดได้อย่างไร? คือเมื่อเราร้องเพลง หรือเล่นดนตรี เป็นเสมือนเราคลายความทุกข์ออกจากจิตใจที่มีอยู่ ตัวเราจะเบา จิตใจเราก็จะเบา และลืมความทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่ง ทำให้จิตใจเราสงบ อีกอย่างคือดนตรีและเสียงร้องมีเสรีภาพ เราสามารถร้องเพลงที่ไหนก็ได้ ในห้องน้ำ สถานที่ท่องเที่ยว หรือเราสามารถเล่นดนตรีที่ไหนก็ได้ เพราะดนตรีคือสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพ ดนตรีไม่มีขอบเขต ไม่มีพรมแดน ไร้เงื่อนไข ไร้ข้อจำกัด เราอยากร้องเพลงที่ไหนก็ได้ ทั่วโลก จิตใจเราสามารถผ่านเสียงดนตรีหรือไปกับเสียงร้อง ดนตรีทำให้เรามีเสรีภาพทางความรู้สึกนึกคิดให้เป็นปัจจุบัน นึกถึงอดีตและคิดถึงอนาคตได้ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดงานเปิดลานละเล่น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ กรณีโครงการประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู้ฟ้าใสโมเดล ซึ่งเราอยากให้เด็กและเยาวชนโรงเรียนฟ้าใสวิทยา ได้เรียนขับร้องเพลง พัฒนาทักษะการออกเสียง การใช้ลมหายใจ สามารถร้องได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม หรือการประสานเสียง พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาสมองและอารมณ์ ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ซึ่งดนตรีเป็นเครื่องบำบัดจิตใจและฟื้นฟูจิตใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเมื่อถึงเวลากลับบ้านหรือกลับสู่สังคม

นายเล็ก (นามสมมุติ) เยาวชนจากสถานพินิจแห่งหนึ่งในโครงการ เปิดเผยว่าตอนนี้ผมอายุ 23 ปี และเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา เนื่องจากต้องคดีพยายามฆ่า พยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ ปล้นและฆ่า รวมถึง 3 คดี ปัจจุบันอยู่ที่นี่มาแล้ว 6 ปี และต้องอยู่ต่ออีก 6 ปีครึ่ง เมื่ออายุครบ 25 ปี ต้องย้ายไปที่เรือนจำครับ ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ผมยังจำเหตุการณ์ได้ดี ตอนนั้นผมอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผมยอมรับว่าผมเป็นคนลงมือทำเอง ผมเสียใจและยอมรับในสิ่งที่ทำ แต่พ่อแม่ก็ให้อภัยและหมั่นมาเยี่ยมผมเสมอ ทำให้ผมอุ่นใจว่าพ่อแม่ไม่ทอดทิ้งผมแน่นอน และพยายามกลับตัวกลับใจ ปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น ผมตั้งใจเล่าเรียน โดยเรียนผ่านระบบ กศน. เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วจึงสมัครเรียนต่อคณะคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ตอนนี้ผ่านไปได้ 1 เทอมแล้วครับ ตอนมาอยู่บ้านแรกๆ ผมเคยหนีออกจากบ้านไปครั้งนึง แต่ด้วยคำพูด ของพ่อแม่ที่บอกว่าถ้าพ่ออยากเจอหนูพ่อจะไปหาหนูที่ไหน พ่อเลี้ยงหนูมาจนโต อยู่ๆ หนูจะหนีไปได้ยังไง จึงยอมกลับมา และไม่ว่าผมจะถูกย้ายไปที่ใด พ่อแม่ก็ตามมาเยี่ยมเสมอ เมื่อผมดูแลเขาไม่ได้ ผมก็ไม่อยากให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจครับ พอได้เข้ามาร่วมโครงการ ได้เล่นดนตรีมันช่วยลดความเครียด ความกังวล ลดความเบื่อหน่ายในแต่ละวัน ทุกวันนี้ผมยังเล่นกีตาร์ทุกครั้งที่มีความขุ่นข้องในใจ การเล่นดนตรีช่วยได้เยอะ พลังของเสียงดนตรีทำให้เราเพลินไปกับเสียงจากเส้นสายกีตาร์ รู้สึกผ่อนคลาย มันบำบัดผมได้จริงๆ เพราะผมอยู่ตรงนี้มาหลายปีและต้องอยู่ต่อไปอีกนานมาก ผมเครียด กดดัน รู้สึกผิดต่อพ่อแม่ที่ผมทำให้เขาเสียใจครับ

อนึ่ง ผมเชื่อว่ากิจกรรมด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา มันเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ในวันนี้ดนตรีได้พัฒนาบุคลิกภาพของน้องๆ ทุกคน ตัวอย่างเช่นการหายใจเข้าลึกๆ มันทำให้เขาลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อหายใจเข้าเต็มกระบังลม แล้วร้องเพลงออกไปสนับสนุนการพัฒนาบุคลิกภาพด้วย การเล่นดนตรียังทำให้เขามองโลกในแง่ดี มีความปรารถนาดีให้ผู้ฟังหรือคนรอบข้าง "การเปิดลานละเล่น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โครงการประสานเสียง สร้างพลังสุข ปลุกพลังใจ สู้ฟ้าใสโมเดล" จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุน เพราะลำพังงบประมาณมาพัฒนาโรงเรียน พัฒนากิจกรรมฝึกปฏิบัติ ก็เป็นงบประมาณอันจำกัด ขอบคุณแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และภาคีเครือข่าย ที่สนับสนุนโครงการในครั้งนี้ ผมว่าจะช่วยเด็กให้เดินผ่านชีวิตที่ลำบากในวันนี้ได้ง่ายขึ้น รศ.ดร.สุกรี กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม