นาวสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ประเทศไทย) กล่าวถึงที่มาของโครงการ ซึ่งถือเป็นความพยายาม WWF-Thailand ในการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การลดความต้องการ และยุติปัญหาการซื้อขายงาช้าง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย และตลาดผู้ขายงาช้างในประเทศ
ทุกปีช้างป่าแอฟริกันกว่า 20,000 ตัวถูกฆ่าเพื่อเอางา และงาเหล่านั้นถูกป้อนไปยังตลาดค้างาช้างขนาดใหญ่ในเอเชีย จากปรากฎการณ์นี้เอง ทำให้ประชากรช้างป่าแอฟริกันลดลงจ่กกว่า 1.3 ล้านตัวในปี พ.ศ.2522 มาอยู่ที่ 415,000 ตัวจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2559 และหากอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่องยังดำเนินต่อไปในไม่ช้า ช้างแฟริกันจะสูญพันธุ์ในที่สุด
"การค้างาช้างผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ เช่นเดียวกับการค้ายาเสพติด ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการค้างาช้างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น การออกพระราชบัญญัติการครอบครองงาช้าง พ.ศ.2558 และ การรวมช้างแอฟริกันเป็นหนึ่งสัตว์คุ้มครองภายใต้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2535 ในฐานะองค์กรด้านการอนุรักษ์ WWF-ประเทศไทย มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนการทำงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวร ส่วนหนึ่งผ่านการรณรงค์สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวให้มีความเข้าใจ ตระหนักรู้ และเลือกซื้อสินค้าชนิดอื่น ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากงาช้าง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการยุติการฆ่าช้างเอางา รวมทั้งคนไทยในฐานะเจ้าบ้านที่ต้องปฏิเสธการขายด้วยเช่นกัน"
ทางด้านนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า "ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่ครั้งโบราณ เรามองว่าช้างเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในครอบครัว เมืองไทยเรามีศูนย์อนุรักษ์ช้าง มีแม้แต่โรงพยาบาลสำหรับช้างโดยเฉพาะ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเมืองไทย ล้วนต้องการที่จะสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับช้าง จึงเป็นการดีที่มีการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ ให้เกิดแก่นักท่องเที่ยวเพื่อที่จะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง ซึ่งจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่จะพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน"
งานนิทรรศการจัดแสดงรูปหล่อเรซินช้างแอฟริกันแม่ลูก ขนาดความกว้าง 7 เมตร สูง 1.8 เมตร จัดแสดงบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นชิ้นงานสร้างสรรค์โดยศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร ประจำปี พ.ศ.2553 นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ เป็นการสร้างชิ้นงานศิลปะรูปช้างขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก ที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของการฆ่าช้างเพื่อเอางานำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับ หรือชิ้นงานแกะสลัก โดยศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธรชี้ว่าการได้มาซึ่งความสวยงามอาจหมายถึงมากกว่า 1 ชีวิตที่เสียไป โดยเขากล่าวว่า
"เมื่อตอนที่ผมคิดทำงานชิ้นนี้ ผมอยากให้งานชิ้นนี้ดูโหดร้ายและมีความรุนแรงที่เหนือจริง แต่พอได้รับข้อมูลต่างๆและเห็นภาพถ่ายที่ถูกส่งมามากขึ้น ทำให้ผมรู้ว่าไม่มีทางเลยที่เราจะสามารถจำลองความรู้สึก หรือสร้างงาน ที่แสดงออกได้ถึงความเจ็บปวด ความเศร้า และสร้างความหดหู่ได้เทียบเท่า กับ "ความจริง" ที่ยังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
สิ่งนี้ ทำให้ผมแปลกใจ ว่าทำไม ยังมีใครบางคนที่คิดไม่ได้ว่า ไม่มีทางที่เครื่องประดับชิ้นไหนจะสร้างความสวยงาม ความภูมิใจ ความภูมิฐาน และเสริมศิริมงคลให้กับใครได้ถ้า สิ่งนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากความทรมาน ความสูญเสีย และความตาย
ในวันนี้ เรารับรู้เรื่องราวต่างๆได้ง่ายและมากขึ้น แต่ถ้าเราแค่รู้สึก และมองสิ่งนี้ เป็นแค่อีกเรื่องที่ไกลตัว เราไม่มีทางที่จะหยุดการเข่นฆ่าที่เหี้ยมโหดเหล่านี้ได้ หรือ เราแค่จะรอ ที่จะตั้งคำถาม แล้วโทษกันไปมา เมื่อถึงวันนั้น วันที่ "ช้าง" เหลือเพียงแค่เป็น ..... ความทรงจำในระบบดิจิตอล ??"
นอกจากการจัดแสดงผลงานศิลปะแล้ว ในแคมเปญเที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง ยังมีการรณรงค์ผ่านกิจกรรมชักชวนนักท่องเที่ยวถ่ายภาพ พร้อมโพสลงสื่อสังคมออนไลน์พร้อมติดแฮชแท๊ก #TravelIvoryFree ตั้งแต่วันที่ 1-10 ตุลาคม 2561 เพื่อร่วมแสดงพลังความรับผิดชอบ และสะท้อนวิถีการท่องเที่ยวไทยอย่างสร้างสรรค์ และเพื่อส่งแรงกระตุ้นไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อกฎหมายในเรื่องการซื้อขายงาช้างในประเทศไทยต่อไป
เกี่ยวกับโครงการสัปดาห์รณรงค์ต่อต้านการซื้องาช้างในประเทศไทย" (Travel Ivory Free)
งานนิทรรศการ " Travel Ivory Free " จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ตุลาคม 2561 ดำเนินกิจกรรมบนแนวคิด " การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ " หรือ " Be Responsible Tourists " ตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างทัศนคติรวมถึงแนวทางการปฏิบัติในการเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี และมีความรับผิดชอบด้วยการไม่สนับสนุนซื้อสินค้าที่ทำมาจากงาช้าง โดยประเทศไทย ถือเป็นตลาดซื้อขายงาช้างขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางในการลักลอบขนถ่ายงาช้างไปเพื่อนำไปแปรรูป หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในแต่ละปีช้างแอฟริกันกว่า 20,000 ตัวถูกฆ่าเพื่อตัดเอางา และการสังหารช้างแอฟริกันที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับทศวรรษ คร่าชีวิตช้างไปแล้วหลายแสนตัว จนกระทั่งปัจจุบันมีการสำรวจพบว่า ประชากรช้างแอฟริกันหลงเหลืออยู่เพียง 415,000 ตัวเท่านั้นในโลก
เกี่ยวกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงาน และอุทิศเพื่องานด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลกที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภคที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.panda.org/news