เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) เมื่อวันที่ 3-4 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 10.20 บาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตในอนาคต จึงได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 10.20 บาท โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 8-10 ตุลาคม 2561 และคาดว่าจะนำหุ้น BGC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 194,444,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปชำระเงินกู้ยืม ขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรีและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ปัจจุบัน บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส และบริษัทย่อย เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยมีบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 3,095 ตันต่อวัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย (อ้างอิงจากรายงาน GlobalData Plc วันที่ 2 ก.พ. 2561) เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แก้วใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่ราย การดำเนินธุรกิจของบมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จึงมีความมั่นคงและมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ" หรือ "BGC") และบริษัทย่อย ("กลุ่มบริษัทฯ") ผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า บริษัทฯ มีจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรวม 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน โดยมีโรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีเพิ่มอีก 1 เตา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน โดยโรงงานแห่งใหม่ได้รับการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น นำระบบสื่อสารข้อมูลการผลิตแบบออนไลน์เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ งวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2561) มีกำไรสุทธิ 270.1 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมีกำไรสุทธิ 121.7 ล้านบาทหรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 122.0 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนคงที่ลดลงจากการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานระยองที่ปิดตัว ไปยังเตาที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานเพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
"บริษัทฯ เชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขันสูง (High barrier to entry) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยรายงาน GlobalData Plc ระบุว่าภาพรวมการบริโภคในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในปี 2561-2565 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6.7% ต่อปีและ 3.1% ต่อปีตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว" นายศิลปรัตน์ กล่าว