หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าตนเองสนใจงานทางการเมือง ประกอบกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งคลายล็อคทางการเมืองโดยอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคและรับสมาชิกพรรคได้ จึงทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า
ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่าจะทำให้ประเทศอยู่ในความสงบเรียบร้อยไม่เกิดความขัดแย้งวุ่นวายจากกลุ่มการเมืองต่างๆ และยังช่วยทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าอาจเป็นการสืบทอดอำนาจของกลุ่มทหารและเกรงว่าอาจเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลังการเลือกตั้งได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไปและเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 เพศชายร้อยละ 49.71 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกต่อการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.15 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าตนเองมีความสนใจงานการเมือง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.85 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกแปลกใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.8 มีความคิดเห็นว่าการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีส่วนช่วยลดปัญหาข้าราชการทำพฤติกรรมเกียร์ว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งที่จะมาถึงได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.89 มีความคิดเห็นว่าการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะส่งผลให้บรรดานักการเมืองตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก/ย้ายสังกัดพรรคการเมืองกันมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.56 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกังวลว่าหลังการประกาศสนใจงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีกลุ่มคนออกมาประท้วงคัดค้านจนบานปลายเกิดความขัดแย้งวุ่นวายก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ด้านความคิดเห็นต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.23 เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.1 ยังไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.67 ไม่แน่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 78.15 ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองที่แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภามาเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.76 ระบุว่าว่าเชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.09 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.14 ระบุว่าตนเองไม่กังวลว่าจะเกิดการประท้วงต่อต้านจนนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.6 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกกังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.26 ไม่แน่ใจ (https://bit.ly/2DWveW5)