ทำดีเพื่อพ่อ! สองเยาวชนไทยรับรางวัลศิลปะแห่งการเขียนจาก สสส. พร้อมต่อยอดแรงบันดาลใจในเสวนาพิเศษ “อ่านเป็น เขียนได้ กำไรชีวิต”

อังคาร ๐๙ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๕๖
หลังเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนจากสถาบันการศึกษาทั้งมัธยมและอุดมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานการเขียนร้อยแก้วและร้อยกรองเข้าประกวดในหัวข้อ "ความดีเล็กๆ ของฉันที่มีแรงบันดาลใจจากธรรมราชา" โดยโครงการแรงบันดาลใจจากธรรมราชา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มุ่งมั่นจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวความดี โดยมีรัชกาลที่ ๙ เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีเพื่อตนเองและสังคม พร้อมต่อยอดการเป็นนักเขียนและกวี ด้วยเสวนาพิเศษจากศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ในหัวข้อ "อ่านเป็น เขียนได้ กำไรชีวิต"

"ชมัยภร บางคมบาง" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียน และความสำคัญของการ "อ่านเป็น" ว่า แท้จริงแล้วการอ่านสำคัญกว่าการเขียนได้ เพราะกระบวนการอ่านถือเป็นการ 'นำเข้า' การซึมซับสิ่งต่างๆ เข้ามาในตัวเราเพื่อตกผลึกและเรียนรู้ เปรียบเสมือนการซึมซับประสบการณ์ในช่วงเวลาหลายปีของคนๆ หนึ่ง ที่ได้รวบรวมข้อมูลและย่อโลกที่เขาพบเจอผ่านตัวอักษรให้อ่าน เรียนรู้ สนุกสนาน และตื่นเต้นไปกับการท่องโลกอีกใบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ขณะเดียวกันโลกภายในของผู้อ่านก็เติบโตและพัฒนาพร้อมกัน

"พออ่านเป็นจะเกิดกระบวนการตกผลึกที่ทำให้เรา 'เขียนได้' เพื่อส่งต่อความรู้ที่ซึมซับจากการอ่าน ดิฉันโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ พ่อ-แม่มีรสนิยมการอ่านที่ต่างกัน ทุกมุมของบ้านจึงมีหนังสือวางไว้เสมอ แม้แต่สารคดีเล่มเขื่องใต้เตียงหรือบทกวีที่พ่อท่องให้ฟังก่อนนอน ดิฉันค้นพบว่า หนังสือที่อ่านมีอิทธิพลต่อความคิดของเราตั้งแต่ก่อนอายุ 15 ปี เล่มแรกที่อ่านคือเรื่องสั้น "มิใช่ของตามตลาด" (ศุภร บุนนาค) วันหนึ่งเราก็เขียนเรื่อง "มิอาจซื้อ" ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนั้น นับแต่นั้นมาดิฉันก็หลงใหลการอ่านมาโดยตลอด ยิ่งอ่านมากกระบวนการเข้าใจชีวิตของเรายิ่งชัดเจน ทุกครั้งที่เขียนเหมือนดิฉันได้ชำระล้างจิตใจให้มองเห็นตัวเองกระจ่างชัดขึ้น ขณะที่การประกวดเปรียบเสมือนกุญแจที่ไขประตูแห่งโอกาสสู่โลกใบใหม่ที่ตื่นเต้นและท้าทาย นั่นเป็นเหตุผลที่เรียกว่า 'กำไรของชีวิต'"

ขณะที่ "เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์" เจ้าของวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2547 จากกวีนิพนธ์ "แม่น้ำรำลึก" เรวัติเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างขาดแคลนมาก ที่บ้านไม่มีแม้หนังสือสักเล่มให้อ่าน นอกจากทรานซิสเตอร์ของแม่ไว้ฟังนิยายริมนา ความไม่มีทำให้เขาเลือกที่จะฝังตัวในห้องสมุดของโรงเรียนเพื่อลืมความหิว และความสุขเดียวของเด็กชายเรวัติคือ การหลบขึ้นไปอ่านหนังสือเงียบๆ บนต้นจามจุรีใหญ่ริมแม่น้ำ จินตนาการถึงวันที่สุนทรภู่จะล่องเรือผ่านคลองเล็กๆ หน้าบ้าน จนถึงวัยเกณฑ์ทหาร ว่างจากการอยู่เวรเขาจะจับปากกาบรรจงคัดลายมือเป็นบทกวี ส่งถึงบรรณาธิการนิตยสาร "ฟ้าเมืองทอง"

"ทุกคืนผมจะเขียนเรื่องสั้นบ้าง บทกวีบ้าง พอสิ้นเดือนผมจะรีบขี่จักรยานเข้าตัวเมืองเพื่อส่งบทความไปที่สำนักพิมพ์ ทำอยู่อย่างนั้นสามเดือน วันหนึ่งฟ้าเมืองทองก็ตีพิมพ์บทกวีของเรวัติ คิดตั้งแต่วันนั้นเลยว่า "เราเป็นนักเขียนได้" ผมพบว่า การอ่านทำให้เข้าใจผู้อื่น ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ไม่ง่ายเลย ยิ่งเข้าใจเราจะไม่ตัดสินผู้อื่น ขณะเดียวกันผมเขียนเพื่อเข้าใจตัวเอง เมื่อเข้าใจตัวเองเราจะมีกำไรชีวิตเพิ่มขึ้น"

เช่นเดียวกับผู้ชนะการประกวดงานเขียนประเภทร้อยแก้ว ฉัตริน จูงฉัตราภรณ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดกับ สสส. โดยมีแรงบันดาลใจจากหนังสือ "บันทึกความจงรัก" ของ สสส. และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงทำหน้าที่เป็น "ครู" สอนนักเรียนจากโรงเรียนวังไกลกังวล ที่ยังคงตราตรึงและจุดประกายความดีเล็กๆ ให้เขาฝันอยากเป็นครูที่ดีในอนาคต

"พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการสอนด้วยความรัก ความเมตตา และด้วยใจที่อยากให้นักเรียนทุกคนของพระองค์ท่านเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมในอนาคต ผมใช้เวลา 2-3 วันในการเขียนเรียงความ พอได้รับรางวัลแล้วรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากครับ เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดีในอนาคต อีกอย่างการได้ฟังนักเขียนทั้งสองท่านทำให้ผมอยากอ่านหนังสือเยอะๆ เพราะการอ่านเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและทำให้เราเติบโตจากภายใน"

กานดามณี รัตนพล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะผู้ชนะการประกวดประเภทร้อยกรอง ถ่ายทอดบทกวีอันงดงามไพเราะที่ได้แรงบันดาลใจในการทำความดีจากการเสด็จฯ ทรงงานตามถิ่นทุรกันดารของรัชกาลที่ ๙ และหนังสือ "บันทึกคำจงรัก" ของ สสส. กล่าวว่า

"ดิฉันชอบเดินทางไปต่างจังหวัด ในทุกที่ที่ไปเราไปเพื่อความสุขของตัวเอง เหมือนนักเดินทางทุกคนที่ต่างก็แบกสัมภาระที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ตัวเอง แต่มีเพียงคนเดียวที่เดินทางไปทุกแห่งหนพร้อมสัมภาระอันหนักอึ้ง เพื่อไปสร้างความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อื่น ถ้าสังคมไทยมีคนที่ให้โดยไม่หวังผลอย่างรัชกาลที่ ๙ ดิฉันเชื่อว่า สังคมจะสวยงามและเป็นสังคมแห่งการให้อย่างแท้จริง การเดินทางของดิฉันเปลี่ยนแปลงไปนับแต่ได้แรงบันดาลใจจากพระองค์ท่าน ทุกที่ที่เราไปไม่จำเป็นต้องสร้างความดีอันยิ่งใหญ่ แค่ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ และส่งต่อการทำความดีให้คนใกล้ตัว เราก็ได้ร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนการเป็นลูกที่ดีของพระองค์ท่านแล้วค่ะ"

ร่วมซึมซึบทุกความประทับใจในเรียงความและบทกวีของเยาวชนในหัวข้อ "ความดีเล็กๆ ของฉันที่มีแรงบันดาลใจจากธรรมราชา" พร้อมสัมผัสเรื่องราวจากแรงบันดาลใจสู่ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่เพียงพอในวันที่ "พ่อ" จากไป ได้ทาง https://www.facebook.com/kingrama9myinspiration ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ "บันทึกความจงรัก" ได้ที่ https://goo.gl/FTnAej และ "บันทึกคำจงรัก" ได้ที่ https://goo.gl/jMYLLf เพื่อเก็บทุกความรำลึกถึงรัชกาลที่ ๙ ให้ตราตรึงในหัวใจของคนไทยตลอดไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ