ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 (ต.ค. - ธ.ค.) ปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 จากระดับ 57.12 จุด มาอยู่ที่ระดับ 46.78 จุด ลดลง 10.34 จุด หรือคิดเป็น 18.10% โดยการปรับตัวลดลงของราคาทองน่าจะมีปัจจัยมาจาก ทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง แรงขายเก็งกำไรของกองทุน และ ปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 342 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 43.57 ของกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือน ตุลาคม 2561 ซึ่งปรับลดลงร้อยละ 1.98 จากเมื่อเดือน กันยายน ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 40.35 ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ส่วนอีกร้อยละ 16.08 คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำในช่วงเดือน ตุลาคม 2561
สรุป กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 10 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ตุลาคม 2561 คาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 5 ราย และคาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน กันยายน 2561 มีจำนวน 4 ราย ส่วนที่คาดว่าราคาทองคำจะลดลง มีจำนวน 1 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำเดือน ตุลาคม 2561 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,171 – 1,226 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 18,000 – 18,900 บาท ต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาทไทยให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31.95 – 32.87 บาทไทย ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนทองคำในเดือน ตุลาคม 2561 ผู้ค้าทองรายใหญ่ ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำในช่วงปลายเดือน กันยายน ที่ผ่านมา ค่อนข้างผันผวนและเป็นไปในทิศทางเชิงลบ เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปลายปี 2561 โดยปัจจุบันราคาทองคำพยายามสร้างฐาน ซึ่งมีแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1,175 – 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ หากราคาทองสามารถยืนอยู่เหนือระดับดังกล่าวได้ จะมีโอกาสกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่บริเวณ 1,224 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ แนะนำนักลงทุนสะสมกำลังซื้อ เมื่อราคาทองคำย่อตัวลงใกล้บริเวณแนวรับดังกล่าว