ในระยะต่อมาจึงได้จัดเวทีประชาชาคมหมู่บ้านขึ้น นำความต้องการและปัญหาที่คนในชุมชนเสนอมาแก้ปัญหาผ่านกลไกของสภาผู้นำชุมชน โดยในปี พ.ศ. 2557 ชุมชนได้ร่วมดำเนินโครงการ "ดับบ้าน ดับคน กับวิถีชุมชนคนไทรงาม" ในชุดโครงการ "ชุมชนน่าอยู่" ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยในปีแรกนั้นมีเป้าหมายสร้างคณะทำงาน ก่อตั้งสภาผู้นำชุมชน โดยคัดเลือกตัวแทนจากทุกกลุ่มอาชีพเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานในชุมชนอื่น นำความรู้ที่ได้ปรับมาใช้ เริ่มต้นจากสมาชิก 33 คนร่วมแรงผลักดันกิจกรรมเพื่อชุมชนวางเป้าหมายทีละขั้น หากประสบปัญหาก็นำกลับมาช่วยกันหาทางแก้ไขปรับปรุง และกลับไปผลักดันให้โครงการมีความก้าวหน้าจนนำไปสู่ความสำเร็จ
หลังจากได้ข้อมูลและมีแผนชุมชนจากการประชุมกันหลายครั้งในปี พ.ศ.2558 จึงได้ดำเนินโครงการ "นาอินทรีย์คืนวิถีคนไทรงาม" ชักชวนสมาชิกชุมชนนำร่อง 30 ครัวเรือน ปรับเปลี่ยนการทำนาใช้สารเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองไว้กินในครัวเรือนเริ่มจากครอบครัวละ 1 ไร่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชนรวมทั้งเยาวชนในการผลิตข้าวอินทรีย์โดยใช้ข้อมูลผลกระทบจากสารเคมีและต้นทุนการผลิต แม้ว่าในครั้งแรกจะได้ผลผลิตไม่มากนักเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การลดต้นทุน สุขภาวะที่ดีขึ้น กลุ่มทำนาอินทรีย์จึงยืนหยัดที่จะปลูกข้าวอินทรีย์ในฤดูกาลต่อไป
หลังได้บทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาและการสนับสนุนจากสมาชิกชุมชน ทำให้ ยุภา ธนนิมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลพนางตุง สร้างความต่อเนื่องให้ชุมชนน่าอยู่ยิ่งขึ้น ด้วยโครงการ "ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องจากมีต้นทุนความรู้จากการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและการลดต้นทุนการผลิต ข้อมูลผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่ได้สำรวจไว้ก่อนแล้ว
"ปีแรกเราสร้างงาน สร้างคน สร้างทีม ให้เยาวชนลงสำรวจข้อมูลเอามาทำแผนที่ชุมชน เรามีสภาผู้นำ ปีต่อมาเรามีครอบครัวนำร่องทำนาอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี 30ไ ร่ ให้ครูพาเด็กมาเรียนรู้การทำนาด้วย ปีที่สามเราจะทำให้หมู่บ้านของเรามีอาหารปลอดภัยกิน ทั้งการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ มีการประชุมพบปะถ่ายทอดข้อมูลแจกพันธุ์พืชให้ไปปลูกบ้างแล้ว แต่มีปัญหาน้ำท่วมจึงยังลงมือปลูกไม่ได้ เท่าที่ดูชาวบ้านตื่นตัวให้ความร่วมมือดีมาก" ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งบ้านไทรงามกล่าว
ผู้ใหญ่ยุภาวางเป้าหมายไว้ว่า ในเบื้องต้นต้องการให้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบไว้ 70 ครัวเรือน จากทั้งสิ้น 148 ครัวเรือน สมาชิกจะได้ร่วมเรียนรู้การเพาะกล้าพืชผัก กล้าไม้ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกัน โดยมีเงื่อนไข 5 ข้อคือ 1.สุขภาพดี 2.ปลูกผักสวนครัว 3.ไม่ใช้สารเคมี 4. บริเวณบ้านสะอาด 5.มีส่วนร่วมกับคนในชุมชน รู้จักแบ่งปันผู้อื่น เบื้องต้นได้เจาะเลือดเพื่อตรวจสารตกค้างในร่างกายไปแล้ว 1 ครั้ง และจะตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่ามีผลลดลงหรือไม่
ขณะที่ นราพงษ์ สุขใส ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเป็นเกษตรกรไร่นาสวนผสม สืบทอดอาชีพเกษตรกรมาจากรุ่นพ่อ กล่าวว่าการทำเกษตร ทำนา ปลุกผักปลอดสารพิษไว้กินเองย่อมดีต่อสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปซื้อหา หากมีมากก็สามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ได้อีกด้วย
"ผมเองต้องทำเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็น ให้กำลังใจคนอื่นด้วย เริ่มแรกเราสอบถามปัญหาสุขภาพชาวบ้าน พบว่าคนในหมู่บ้านต้องไปโรงพบาบาลกันมาก แล้วก็มักจะซื้อผัก ผลไม้ที่คนเข้ามาเร่ขายหน้าบ้าน จึงคิดว่าทำไมต้องซื้อในเมื่อเราทำเกษตรอยู่แล้ว ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านตั้งแต่ผู้นำ ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้าหาโรงเรียนให้เด็กมีส่วนร่วมกลับไปบอกผู้ปกครอง" นราพงษ์ กล่าว
เกษตรกรไร่นาสวนผสม เปิดเผยด้วยว่าหลังจากการดำเนินโครงการในแนวทางเกษตรปลอดสารพิษ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตร กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตร โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล กลุ่ม อสม. สนับสนุนด้านงบประมาณ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร วัด อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มาช่วยด้านงานวิจัย ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตำบลพนางตุง จนทำให้หมู่บ้านเป็นต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์
"เราวางแผนไว้ว่าต่อไปจะทำโรงสีเล็กๆให้สมาชิกได้มาสีข้าว ทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ไว้รองรับ ให้เกษตรกรนำไปปลูกแล้วนำบางส่วนมาคืน ส่วนด้านการจำหน่ายก็วางแผนจะทำตลาดชุมชนเป็นตลาดสีเขียว สมาชิกเองก็ให้ปลูกพืชต่างชนิดกัน ทำให้หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ครบวงจร" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ทางด้าน นุชรีย์ ขุนฤทธิ์สง เกษตรกรซึ่งมีรายได้จากการเพาะกล้าผัก พริกและมะเขือจำหน่าย กล่าวว่าโดยปกติปลูกผักไว้กินเอง บางส่วนซื้อจากผู้ที่ปลูกในหมู่บ้านที่ไม่ใช้สารเคมี ส่วนการเพาะกล้าผักเป็นรายได้เสริมจำหน่ายให้เกษตรกรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงนำไปปลูก การเพาะเมล็ดผักใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักที่ไปร่วมเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์นำมาใช้ ทำให้กล้าที่เพาะไว้งอกงามดี ได้รับความสนใจจากเกษตรกรมาซื้อไปปลูกต่ออยู่เสมอ และเห็นว่าการปลูกผักกินเองโยไม่ใช้สารเคมีทำให้คนกินปลอดภัย คนปลูกจะรู้ว่าใส่อะไรลงไปบ้าง และช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวไปด้วย
วันนี้ชาวบ้านไทรงามพร้อมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนชุมชนของตนเองนั้นก้าวสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบอินทรีย์ มีการปลูกพืชผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง ซึ่งเป็นผลจากการสั่งสมองค์ความรู้และนำออกมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างได้ผล โดยเฉพาะการทำนาอินทรีย์ที่ลดต้นทุนจากเดิมที่ใช้สารเคมีได้ครึ่งต่อครึ่ง จากไร่ละ 4,000 บาท เหลือเพียง 2,000 บาทเท่านั้น จึงนับได้ว่าบ้านไทรงามคือชุมชนต้นแบบที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคตามธรรมชาติ และใช้ความเข้มแข็งของชุมชนมาผสมผสานกับวิถีการผลิตแบบยั่งยืน เพื่อฟื้นคืนความสุขและสุขภาวะดีให้กับสมาชิกทุกคนในชุมชน.