“นางฟ้าแปลงร่าง” สร้างสุขภาพดีที่ “โรงเรียนบ้านบาเงง”

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๕๓
ปัญหาความยากจนของครอบครัวทำให้เกิดภาวะทุพโภชนการในเด็กนักเรียนแทบทุกคนของ "โรงเรียนบ้านบาเงง" ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง ต้องออกไปทำงานแต่เช้ามืด ไม่มีเวลาดูแลจัดการอาหารเช้า อาหารมื้อสำคัญของเด็ก ทำได้เพียงให้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้เด็กซื้อของกินเอง ซึ่งก็มักไม่พ้นเป็นขนมกรุบกรอบราคาถูก ส่งผลให้เด็กขาดอาหาร ปวดท้อง เสียสุขภาพ ไม่สามารถเรียนได้อย่างมีความสุข

กว่าสามปีที่ พิพัฒน์ พงศ์ประยูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาเงง อำเภอโคกโพธิ์ เข้ามารับตำแหน่งที่นี่ ก็พยายามยามแก้ไขปัญหานี้โดยตลอด เริ่มด้วยการชักชวนเพื่อนครูช่วยกันระดมเงินของตนเอง และขอความร่วมมือผู้ปกครองด้วยการสมทบทุนข้าวสารเพื่อจัดอาหารเช้าให้แก่นักเรียน

"เงินเพื่อนครู 300 บาท ของผมอีก 500 บาท และข้าวสารจากผู้ปกครองครอบครัวละหนึ่งกิโลกรัมต่อเดือนทำให้เรามีอาหารเช้าให้เด็กได้ แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่ความยั่งยืนเราต้องหาทางอื่น" ผอ.พิพัฒน์ กล่าว

ด้วยต้นทุนของชุมชนที่มีแหล่งความรู้ทางด้านการเพาะเห็ดนางฟ้า โรงเรียนบ้านบาเงง จึงได้เริ่มทำกิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้าเพื่อนำมาเป็นอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียน และขยายผลเข้าสู่ "การส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีแบบพอเพียง" ตาม "โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส" ที่สนับสนุนโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการเพาะและแปรรูปเห็ดนางฟ้าโดยการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

"นักเรียนได้มาศึกษาการเพาะเห็ดและเรียนรู้แนวคิดการลดละสารเคมีในการทำการเกษตรแบบวิถีพอเพียงจากศูนย์เรียนรู้ แล้วกลับไปทำทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน นับว่าเป็นความสำเร็จในร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งได้ผลดียิ่ง เด็กๆ ให้ความสนใจมาก การนำเห็ดไปเพาะที่บ้าน ผู้ปกครองเองก็พอใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรม" สุลัยมาน จันทร์เทพ ปราชญ์ท้องถิ่นผู้ศึกษาด้านวิถีเกษตรพอเพียงคู่ขนานกับการทำงานกับเด็กและเยาวชนผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเล่าถึงปัจจัยความสำเร็จ

โดยเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Mini Mushroom House ที่ ผอ.พิพัฒน์ พงศ์ประยูร ได้พัฒนาขึ้นให้เป็นตู้เพาะเห็ดขนาดเล็ก ใส่เห็ดได้ประมาณ 15-20 ก้อน มีราคาประหยัด ใช้วัสดุท้องถิ่นเช่นเศษไม้และไม้ไผ่ทำโครงตู้ คลุมด้วยตาข่ายกรองแสง และตู้เพาะเห็ด Mini Mushroom House นี้เอง ยังได้ถูกส่งไปยังบ้านของนักเรียนทุกคน พร้อมๆ กับความรู้เรื่องของการเพาะเห็ดที่อยู่ในตัวเด็กแต่ละคนที่จะกลับไปถ่ายทอดให้คนในครอบครัว

"ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องคอยรดน้ำ คอยสังเกตการเจริญเติบโตของเห็ด" "เป็นกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันในครอบครัว" "ประหยัดค่ากับข้าว เป็นแหล่งอาหารในบ้าน" คือเสียงตอบรับจากผู้ปกครอง

นอกจากการนำเห็ดนางฟ้ามาเป็นอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียนแล้ว ผลผลิตที่ได้อย่างมากมายยังถูกนำมาใช้สอนให้นักเรียนรู้จักแปรรูปเป็นอาหาร เห็ดนางฟ้าถูกแปลงร่างเป็นอาหารหลายอย่าง กลายเป็นอาหารอร่อย กินง่าย และเป็นการถนอมอาหารจากผลผลิตเห็ดนางฟ้าที่เหลืออยู่ด้วย

"เด็กๆ ชอบเห็ดเทมปุระหรือเห็ดชุบแป้งทอดกันมาก การแปรรูปเห็ดช่วยให้เด็กเปลี่ยนเจตคติจากการไม่ชอบกินผักให้หันมากินผัก ซึ่งเราก็ต่อยอดจากเห็ดทอดมาเป็นผักต่างๆ ทอด เช่นผักบุ้งทอด เด็กก็ชอบกิน และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แหนมเห็ด แหนมเป็นการถนอมอาหารที่ไม่ใช่อาหารท้องถิ่น แต่ก็มีเด็กหลายคนชอบกินมาก" ผอ.พิพัฒน์ เล่าถึงการขยายผลลัพธ์ที่มากกว่าอาหารเช้าและกลางวันของเด็ก

นอกจาก เทมปุระเห็ด และ แหนมเห็ด เห็ดนางฟ้ายังแปลงร่างไปได้อีกหลายอย่างอาทิ น้ำเห็ดพร้อมดื่ม ห่อหมกเห็ด ขนมจากเห็ด หรือเป็นส่วนผสมในอาหารหลายชนิด นอกจากนั้นยังถูกแปลงร่างในรูปแบบการถนอมอาหารเก็บไว้กินได้นานๆ เช่น เห็ดสวรรค์ ข้าวเกรียบเห็ด หรือน้ำพริกเห็ดรสชาติต่างๆ ฯลฯ

"ชอบห่อหมกเห็ดค่ะ หนูช่วยแม่ทำด้วย ทำจากเห็ดที่หนูเพาะเองที่บ้าน แต่ก่อนหนูไม่กินผัก แต่หลังจากหัดกินเห็ด หนูหัดกินผักบุ้งและผักคะน้า ตอนนี้ชอบกินผัก" ดญ.ฟิตดาว เซง นักเรียนชั้น ป.5 เล่าให้ฟังว่าแม่ชอบใจมากที่ตนเองเพาะเห็ดได้ และดีใจที่ตนเองสนใจเข้าครัวและหัดกินผัก

จากเห็ดนางฟ้าที่เข้ามาเป็นอาหารของนักเรียน สู่โครงการเพาะเห็ดในทุกบ้าน ต่อยอดด้วยการเรียนรู้การแปรรูปเห็ดนางฟ้าในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาการเรียนรู้และหลังเลิกเรียน ทำให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านบาเงงทุกคนสามารถเพาะเห็ดได้และทำอาหารจากเห็ดเป็น

ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน วัดผลได้จากน้ำหนักและส่วนสูง มีความรับผิดชอบ รู้จักการแบ่งงานกันทำ และมีจิตอาสาในการนำวัตถุดิบหลายอย่างมาจากบ้าน เช่น ใบมะพร้าว ใบจาก ใบตอง หรือสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาแปรรูปอาหารที่โรงเรียน รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยรวมก็ดีขึ้นจากการที่เด็กมีภาวะโภชนาการดีขึ้น มีความสุขในการเรียนมากขึ้น

"เราเชื่อว่าโครงการนี้จะยั่งยืนต่อไปเพราะนี่คือการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน ทุกบ้านของนักเรียนในวันนี้มี Mini Mushroom House และทุกครอบครัวเพาะเห็ด ทำอาหารจากเห็ด และแปรรูปเห็ดได้ เป็นความยั่งยืนของแหล่งอาหาร ลดรายจ่ายและมีรายได้เสริม และเชื่อว่าเป็นคำตอบในเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของนักเรียนและคนในชุมชน" ผอ.พิพัฒน์ กล่าวสรุป

การส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีแบบพอเพียง ที่มีจุดเริ่มต้นจาก Mini Mushroom House ที่ทำขึ้นง่ายๆ ต้นทุนต่ำ ที่ขยายขึ้นมาจากความห่วงใยของครูต่อสุขภาวะเด็กที่ขาดสารอาหาร เพราะข้อจำกัดในอาชีพของครอบครัว ได้โยงใยบ้านและโรงเรียนเข้าหากัน ร่วมสร้างสุขภาวะทั้งทางโภชนาการและทางจิตใจให้แก่ชุมชน เป็นนวัตกรรมง่ายๆ แต่สามารถสร้างสุขภาวะให้แก่ชุมชนบ้านบาเงงได้อย่างยั่งยืน.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version