ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง วิชาที่ชอบเรียนของเด็กไทย กรณีศึกษาตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 14 – 17 ปีทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,043 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 – 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
วิชาเรียนที่นักเรียนชอบมากที่สุด คือ ร้อยละ 21.4 ระบุ พลศึกษา กีฬา เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน ปิงปอง วิ่ง ว่ายน้ำ ตะกร้อ เป็นต้น รองลงมาคือ ร้อยละ 18.9 ระบุ คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 9.5 ระบุ คณิตศาสตร์ ร้อยละ 8.6 ระบุ ภาษาอังกฤษ ร้อยละ 8.0 ระบุ วิทยาศาสตร์ ร้อยละ 7.3 ระบุ ศิลปะ ร้อยละ 6.8 ระบุ ภาษาไทย ร้อยละ 6.1 ระบุ สุขศึกษา ร้อยละ 5.1 ระบุ สังคมศึกษา และที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 8.2 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเมือง กฎหมาย อาชีพ สิทธิและหน้าที่พลเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม น่าเป็นห่วงคือ ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.1 ยังไม่รู้ ไม่แน่ใจ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเรียนสูงสุดที่ระดับอะไร รองลงมาคือร้อยละ 30.9 ระบุปริญญาตรี ร้อยละ 27.3 ระบุ ปริญญาโท และร้อยละ 8.7 ระบุ ปริญญาเอก ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 ระบุโอกาสด้านการเรียนที่ผู้ใหญ่ในสังคมจัดไว้ให้ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่ ร้อยละ 15.1 ระบุเท่าเทียมกัน และเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.8 ประเมินตนเองว่า การเรียนในห้องเรียนที่ผ่านมาทำให้ความฉลาดเท่าเดิม เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 38.1 ระบุ ฉลาดขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น และร้อยละ 9.1 ระบุรู้สึกแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ระบุค่อนข้างบ่อย ถึง บ่อยมากที่สุด ในการช่วยเหลือผู้อื่น ดูแลผู้อื่น เช่น คนในครอบครัว คนสูงอายุ เพื่อน ๆ คนที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 8.7 ไม่ค่อยบ่อยถึง ไม่เคยเลย
ที่น่าสนใจคือ ลักษณะการใช้เวลาของเด็กนักเรียนในปีหน้า พบว่า ร้อยละ 34.1 จะหาอะไรทำที่หลากหลาย คลายเครียด ร้อยละ 33.4 จะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ใช้เวลาให้ดี และร้อยละ 32.5 จะเรียนให้หนัก สอบให้ผ่าน คือเป้าหมาย