สรุปสถานการณ์รับสร้างบ้านQ3 และแนวโน้ม Q4 ปี’ 61

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๑๖
ภาพรวมตลาดบ้านสร้างเอง

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ชี้สถานการณ์ตลาดบ้านสร้างเองไตรมาส 3 (กรกฏาคม-กันยายน 2561) ภาพรวมยังทรงตัวหรือขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ฉุดให้กำลังซื้อจนไม่อาจขยายตัว เกิดจากผลกระทบด้านการเมืองและภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสมาคมฯ คาดการณ์ว่าตลาดบ้านสร้างเองตลอดปี 2561 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนสุดท้าย หากทิศทางด้านเศรษฐกิจประเทศปรับตัวได้ดี และจากรัฐบาล คสช. ที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและประชาชน ที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง และจะทำให้กล้าจับจ่ายใช้สอยและลงทุนเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ทั้งนี้สมาคมฯ ประเมินมูลค่ารวมตลาด "บ้านสร้างเอง" ทั่วประเทศในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท โดย "ธุรกิจรับสร้างบ้าน" หรือกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน (ไม่ใช่ ผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป) น่าจะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะแชร์ส่วนแบ่งได้แล้ว 70% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ ซึ่งยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะสามารถชิงแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ประมาณการไว้

รับสร้างบ้าน Q3 นิ่งหลังเจอพิษภัยธรรมชาติ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านจากที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีว่าธุรกิจรับสร้างบ้านจะมีมูลค่ารวม 14,000-15,000 ล้านบาท จากการประเมินในช่วง 9 เดือน หรือ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา แชร์ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมยังต่ำกว่าเป้าที่ประมาณการเล็กน้อย ถึงแม้ในช่วงท้ายไตรมาส 3 ความต้องการและกำลังซื้อจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม สาเหตุหลัก ๆ มาจากภัยธรรมชาติและฤดูกาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นช่วงฤดูฝน และเกิดพายุฝนตกหนักในหลาย ๆ พื้นที่ จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคใต้บางส่วนทำให้ผู้บริโภครอดูสถานการณ์และชะลอการปลูกสร้างบ้านเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 (ก.ค.-ส.ค.) กำลังซื้อชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด บางส่วนที่กำลังตัดสินใจก็ยังลังเลรอดูสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเพิ่งกลับมามีสัญญาณบวกภายหลังปัญหาน้ำท่วมเบาบางลง ในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 ทำให้ภาพโดยรวมตลาดรับสร้างบ้านดีขึ้นแต่ไม่มากนัก

ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่มีการแข่งขันกันรุนแรงพอสมควร โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองเศรษฐกิจ โดยรูปแบบการแข่งขันจะแตกต่างกันออกไป สามารถจำแนกออกได้ 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท 2.กลุ่มตลาดราคาบ้าน 2-5 ล้านบาท 3.กลุ่มตลาดราคาบ้าน 5-10 ล้านบาท และ 4.กลุ่มตลาดราคาบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับกลุ่มตลาดบ้านราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะมีผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ รวมถึงผู้รับเหมาสร้างบ้านแข่งขันอยู่ในตลาดนี้เป็นหลัก เน้นแข่งขันราคามากกว่าเน้นคุณภาพ ระดับการแข่งขันรุนแรงมาก

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มราคา 2-5 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีผู้ประกอบการอยู่กันครบ ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกันสูงปานกลาง สำหรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่ใช้แข่งขันจะเน้นเรื่องรูปแบบบ้านและดีไซน์สวยงาม คุณภาพวัสดุ ฝีมือและผลงานก่อสร้าง รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภค

ส่วนกลุ่มที่ 3 จะเป็นบ้านราคา 5-10 ล้านบาท กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่เน้นแข่งขันราคา แต่จะแข่งขันในเรื่องของรูปแบบฟังก์ชัน ดีไซน์ คุณภาพวัสดุ หรือแม้แต่การสร้างจุดขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ในเรื่องของบ้านประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมภายในบ้าน เช่น ระบบระบายอากาศ ระบบโฮมออโตเมชั่น รวมถึงมีบริการออกแบบตกแต่งภายใน จัดสวน ไว้รองรับหากผู้บริโภคมีความต้องการ ฯลฯ เป็นต้น

สุดท้ายกลุ่มบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงพอสมควร เนื่องจากมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียง รายกลาง รายใหญ่ และรายที่มีประสบการณ์อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านมานาน ต่างเข้ามาแข่งขันชิงแชร์ตลาดกันจำนวนมาก สวนทางกับปริมาณหรือจำนวนหน่วยที่มีอยู่จำกัดเพราะกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนิชมาร์เก็ตแต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและราคาต่อหน่วยสูง ผู้ประกอบการที่แข่งขันในตลาดนี้จะไม่เน้นแข่งขันราคา แต่จะเน้นในเรื่องของดีไซน์และฟังชั่นที่ตอบโจทย์เฉพาะไลฟ์สไตล์ เน้นภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ การให้บริการแบบ One stop service เบ็ดเสร็จทั้งงาน Interior และ Landscap ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 20 ราย รวมถึงผู้ผลิตวัสดุรายใหญ่ที่แตกไลน์ธุรกิจ หันมาจับตลาดกลุ่มนี้เพื่อต้องการหนีการแข่งขันในเรื่องของราคา

"แม้สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อผู้บริโภคจะเติบโตในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยประเมินสถานการณ์จาก 1.ความชัดเจนทางการเมืองหลังจากรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า 2.การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศหลังจากตลาดหุ้นเริ่มมีสัญญาณบวก 3.รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมถึงการลงทุนของภาครัฐ 4.ผู้ประกอบการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านกลับมาคึกคักอีกครั้ง"

การเมืองชัดเจนดันรับสร้างบ้าน Q4 สดใส

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทิศทางในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีนั้น นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลปลดล็อกทางการเมืองและส่งสัญญาณเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวล ส่งผลทางด้านจิตวิทยาและทำให้สถานการณ์ของตลาดรับสร้างบ้าน เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น กอปรกับความเชื่อของผู้บริโภคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชาชนจะไม่นิยมปลูกสร้างบ้านในช่วงเข้าพรรษาหรือตรงกับช่วงไตรมาส 3 ดังนั้น เชื่อว่าในไตรมาส 4 ประชาชนจะเริ่มกลับมาปลูกสร้างบ้านกันคึกคักอีกครั้ง ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบอยู่บ้าง ในเรื่องของภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน หากเผชิญพายุฝนอีกครั้งก็อาจเกิดการชะงักในเรื่องของการก่อสร้าง รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง หากว่ารัฐบาล คสช. มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก คาดว่าจะส่งผลในด้านลบและอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจหรือตัดสินใจล่าช้าออกไปอีกเช่นกัน

"สมาคมฯ เชื่อว่ากำลังซื้อกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำได้ เชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านในโค้งสุดท้ายนี้ น่าจะได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย เพราะเท่าที่สังเกตจะเห็นว่ากำลังซื้อยังคงมีอยู่ เพียงแต่ผู้บริโภครอการตัดสินใจเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต่างก็ต้องเร่งสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้มีการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ ทั้งลด ทั้งแถม ผู้บริโภคเองมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญสถาบันการเงินเริ่มคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เชื่อว่าผู้บริโภคจะรีบตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงนี้ เพราะจะคุ้มค่าหรือเรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของผู้บริโภคก็ว่าได้"

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ควรต้องศึกษาข้อมูล รวมถึงมีการเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน เพราะข้อมูลที่ได้อาจจะยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ปัจจุบันผู้บริโภคร้อยละ 70 มักจะใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาข้อมูล แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดบางประการในการเปรียบเทียบข้อมูล ดังนั้นทางที่ดีควรจะต้องศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น ตรวจสอบบริษัทรับสร้างบ้านว่ามีตัวตนจริง มีที่ตั้งชัดเจนหรือไม่ มีทีมงานอย่างไร มีเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ได้หรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภคเองทั้งสิ้น ที่สำคัญข้อมูลจากลูกค้าที่เคยใช้บริการมาก่อน เพราะจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผู้ประกอบการรายนั้น ๆ ด้วย อย่าหลงเชื่อคำกล่าวอ้างว่าเป็นสมาชิกของหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ เพราะอาจจะเป็นเพียงแค่การโฆษณาให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม