สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ (สวช.) เผย!ความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีนในประเทศไทย

ศุกร์ ๑๒ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๓๔
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.)กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศยังมีความมั่นคงด้านวัคซีนไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2544 และในวันที่ 13 สิงหาคม 2552ได้มีมติให้ยกระดับเรื่องวัคซีนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดการพัฒนางานให้ประเทศมีความมั่นคงด้านวัคซีนและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบวาระแห่งชาติด้านวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านวัคซีนโดยกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนผลักดันศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศไทย เน้นการส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนในประเทศทั้งวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่จำเป็นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อการป้องกันโรคอย่างทั่วถึงทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดการระบาดของโรค

วาระแห่งชาติด้านวัคซีนของประเทศไทยเดินหน้าด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 10 โครงการหลัก ประกอบด้วยการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศเพื่อขับเคลื่อนงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ การพัฒนาบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นมาตรฐานสากล การวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนจำเป็นโดยมีระยะดำเนินงาน 10 ปี(พ.ศ. 2554 – 2563)ซึ่งมีผู้รับผิดชอบโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 8 หน่วยงานโดยมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ประสานติดตามผลความก้าวหน้าของโครงการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภายในระยะเวลา 5 ปี การพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีโครงการสำเร็จตามเป้าหมายสุดท้ายแล้วถึง 2 โครงการคือ 1. โครงการจัดตั้งคลังจัดเก็บวัคซีนมาตรฐานของภูมิภาค โดยสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ปัจจุบันมีคลังจัดเก็บวัคซีนมาตรฐานสำหรับใช้ในประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้มาตรฐานสากลและเพียงพอต่อการใช้งาน และมีระบบการบริหารจัดการวัคซีนมาตรฐานที่มีประสิทธิผล สามารถรองรับการประกันและการควบคุมคุณภาพวัคซีนตามมาตรฐานสากล และ 2.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด สามารถวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ผลิตภัณฑ์วัคซีนได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนไอกรนไร้เซลล์ (aP) ชื่อการค้า คือ Pertagen และวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบและไอกรนไร้เซลล์ (TdaP) ชื่อการค้า คือ Boostagen

ดร.นพ.จรุงกล่าวต่อไปว่าโครงการภายใต้วาระแห่งชาติด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นมาตรฐานสากลที่ดำเนินงานใกล้สำเร็จและได้ใช้ประโยชน์บ้างแล้วจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์เพื่องานวิจัยพัฒนาด้านวัคซีน โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สามารถรวบรวมชีววัสดุที่มีคุณสมบัติในการพัฒนาต่อไปเป็นวัคซีนได้ตามเป้าหมาย จำนวน 50 รายการ มีการพัฒนาและใช้ระบบการจัดเก็บรักษาชีววัสดุด้วยแนวทางที่มีมาตรฐาน ขณะนี้มีเครือข่ายจากหน่วยงานในประเทศ 5 หน่วยงานเข้าร่วมแล้ว สำหรับทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถพัฒนาแนวทางการจัดเก็บและเข้าถึงชีวทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์ รวมทั้งจัดการระบบการจัดเก็บเดิมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ2.โครงการการเตรียมความพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรมมาตรฐาน GMP โดยโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับกระบวนการผลิตวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ทาง NBF มีการเตรียมความพร้อมของโรงงานระดับกึ่งอุตสาหกรรม จำนวน 2 เทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดเซลล์สัตว์และวัคซีนชนิดแบคทีเรีย เพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน GMP/PICS จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี 2562

ส่วนโครงการภายใต้วาระแห่งชาติด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตวัคซีนในประเทศตลอดวงจรการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มี 3 โครงการ ที่มีความก้าวหน้าไปมากแต่ยังไม่เป็นไปตามแผน คือ การพัฒนาวัคซีนเจอีชนิดเชื้อเป็นโดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การผลิตวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) และการผลิตวัคซีนผสมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี (DTP-HB) และการวิจัยพัฒนาไข้เลือดออกสู่ระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เนื่องจากมีอุปสรรคต่างๆ เช่น การติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของกล้าเชื้อวัคซีนเจอี สถานที่ผลิตวัคซีน DTP ชำรุดต้องซ่อมบำรุง ผลการศึกษาวัคซีนตัวเลือกบางสายพันธุ์ของวัคซีนไข้เลือดออกไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ขาดเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต เป็นต้น ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ สถาบันไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหากับหน่วยงานผู้รับผิดชอบและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยทุกโครงการที่กล่าวมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาวัคซีน เป็นผู้บริหารโครงการ ติดตาม และคอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

สำหรับโครงการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบมี 2 โครงการ คือ 1.โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนโดยหน่วยงานกลางแห่งชาติด้านวัคซีน ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.... ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสิ้นปีนี้ และ 2. โครงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนอย่างเป็นระบบ การดำเนินที่ผ่านมาสำเร็จตามแผนแม่บทการพัฒนาบุคลากร ทำให้ปัจจุบันประเทศมีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบุคลากรเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศสามารถยกระดับการปฏิบัติงานทุกด้านของวัคซีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ

"การดำเนินงานโครงการภายใต้วาระชาติด้านวัคซีนและโครงการอื่น ๆ ที่ไม่บรรจุอยู่ภายใต้วาระแห่งชาติอีกจำนวนหลายโครงการ จะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาและยกระดับศักยภาพด้านวัคซีนและชีววัตถุในทุกมิติ หากทุกฝ่ายทุกระดับร่วมกันตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้วิจัย ผู้ผลิต และผู้ใช้วัคซีน เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการผลิตวัคซีนอีกประเทศหนึ่ง นอกจากผลิตใช้ภายในประเทศเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพและความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังช่วยสร้างเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออก สร้างความก้าวหน้าและความเข้มแข็ง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและสามารถช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้ด้วย"ดร.นพ.จรุงกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO