การทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน ปราบปราม การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนต่างๆปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมมักวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าเป็นเพราะบทลงโทษที่ไม่เด็ดขาด การปล่อยปละละเลยของผู้บังคับบัญชา รวมถึงการช่วยเหลือปกป้องพวกพ้อง เป็นต้น
ขณะเดียวกันสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยได้คือ ประชาชนบางส่วนยังมีพฤติกรรมการเสนอสินน้ำใจหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีความ เช่นเดียวกับการมีค่านิยมมอบสินน้ำใจเพื่อตอบแทนความช่วยเหลือ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.33 และเพศชายร้อยละ 49.67 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ประเภทคดีที่มีปัญหาการเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด 5 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ คดีจราจร/การขนส่งคิดเป็นร้อยละ 86.92 คดียาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 84.69 คดีค้าของเถื่อน/ของผิดกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 82.37 คดีทะเลาะวิวาท/ทำร้ายร่างกายคิดเป็นร้อยละ 79.64 และคดีล่วงละเมิดทางเพศคิดเป็นร้อยละ 76.66
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชากับนายตำรวจชั้นผู้น้อยกับการมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.05 มีความคิดเห็นว่านายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชามีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนได้มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.04 มีความคิดเห็นว่านายตำรวจชั้นผู้น้อยมีส่วนทำให้เกิดปัญหาได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.91 ระบุว่านายตำรวจทั้งสองกลุ่มมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเท่าๆกัน
ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.24 มีความคิดเห็นว่าพฤติกรรมของประชาชนที่ชอบเสนอสินน้ำใจ/ค่าน้ำร้อนน้ำชามีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.94 ไม่เชื่อว่าตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่รู้เห็นกับพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.08 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนด้วยการย้ายออกนอกพื้นที่จะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มากขึ้น
สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด 3 ปัจจัยที่มีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างคือ ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันคิดเป็นร้อยละ 89.07 การปลูกจิตสำนึกประชาชนไม่ให้เสนอสินน้ำใจคิดเป็นร้อยละ 87.17 ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดคิดเป็นร้อยละ 84.6
ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.6 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดบทลงโทษนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชามีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.78 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.62 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.61 มีความคิดเห็นว่าหากมีการกำหนดให้ผู้ที่มีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนต้องรับโทษประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลดลงไปได้ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.52 มีความคิดเห็นว่าหากมีการสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจริตเรียกรับสินบนทันทีโดยไม่ได้รับเงินเดือนแทนการย้ายออกนอกพื้นที่ในระหว่างการสอบสวนจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลดลงไปได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.35 มีความคิดเห็นว่าปัญหาการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปจากสังคมไทยภายในช่วงเวลายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.49 มีความคิดเห็นว่าจะสามารถแก้ไขให้หมดไปได้ภายในช่วงยุทธศาสตร์ 20 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.16 ไม่แน่ใจ