นอกจากนี้ สภาวะอากาศเอื้ออำนวยประกอบกับเกษตรกรไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 14.10 ล้านตัน ในปี 2560 ร้อยละ 9.15 คิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 2.74 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัว อยู่ที่ 2.36 ล้านตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 0.40 ล้านตัน (ระดับที่เหมาะสม 0.25 ล้านตัน) ราคาผลปาล์มและราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย ในปี 2561 จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้ และราคาน้ำมันปาล์มดิบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2.80 - 3.80 บาท และ 19.00 - 23.00 บาท ตามลำดับ
คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในคราวประชุมวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 มีมติเห็นชอบมาตรการการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ดังนี้ 1) เร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตัน เพื่อลดสต็อกน้ำมันปาล์มให้เข้าสู่ระดับปกติ และช่วยรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 525 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบการจัดสรรงบกลาง ฯ 2) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ (ผลการจำหน่าย น้ำมันดีเซล B20 ข้อมูลวันที่ 2 ก.ค. - 30 ก.ย. 61 สามารถจำหน่าย B20 ได้ 6.89 ล้านลิตร คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1,199 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 13.17 ตัน) 3) มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับกรมศุลกากร พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการการถ่ายลำผ่านแดนน้ำมันปาล์มเพื่อสามารถกำกับดูแล ความถูกต้องของสินค้าที่ถ่ายลำและผ่านแดน 4) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจพิจารณาจัดทำแผนงานในการปรับข้อกำหนดคุณภาพการสกัดน้ำมันปาล์มของโรงงานฯ ให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ปี 2560 – 2579 โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมโครงการปลูกปาล์มน้ำมันโดยใช้ระบบแปลงใหญ่ (ปี 2559 กลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 25 และมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) และผลจากการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง โดยการผลักดันของผู้ว่าราชการจังหวัด และสภาเกษตรกร จ.สุราษฎร์ธานี พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน โดยการตัดปาล์มสุก ประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร ลานเท และโรงงานสกัดฯ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถจำหน่ายผลปาล์มได้ในราคาสูงกว่าราคาทั่วไป สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจาก 17% เป็น 17.81% อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และช่วงเวลา (ปี 2561 สามารถดำเนินการได้ 112 แปลง ครอบคลุม 13 จังหวัด) ส่งเสริมการปลูกทดแทนปาล์มน้ำมันด้วยปาล์มพันธุ์ดี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนของ กสก. พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ประมาณ 4.7 แสนไร่ (ชุมพรร้อยละ 38 กระบี่ร้อยละ 26 และสุราษฎร์ธานีร้อยละ 22) และในปี 60 สามารถดำเนินการปลูกทดแทนฯ ในพื้นที่นำร่องได้ 2 พันไร่
นอกจากนี้ ได้กำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมและให้ระบบการซื้อขายปาล์มน้ำมันแปรผันตามคุณภาพ โดยให้มีคณะทำงานระดับจังหวัด และอำเภอ กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยในปี 2559 - 2560 กำหนดให้จังหวัด สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง และในปี 2561 - 2562 ขยายผลไปยังจังหวัด กระบี่ ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช และการปลูกพืช หรือปศุสัตว์ร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร