ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย กับ การคุมสินเชื่อบ้าน ในมุมมองของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ของไทย จำนวนทั้งสิ้น 410 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.6 ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ของไทย ระบุวัตถุประสงค์ของลูกค้าผู้บริโภคในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยคือ เพื่ออยู่อาศัยของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 32.5 ระบุเพื่อลงทุนเก็งกำไร
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเรื่องการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับบ้าน ที่พักอาศัยหลังที่สอง ในมุมมองเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคาพาณิชย์ของไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่สามขึ้นไป ร้อยละ 73.4 ระบุ ควรเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน ร้อยละ 72.7 ระบุ เห็นด้วยต่อมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ผู้บริโภคดาวน์ 20% และร้อยละ 67.5 ระบุ ควรปล่อยสินเชื่อ 100% ให้ผู้บริโภคลูกค้าชั้นดีมากได้
ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 37.5 ระบุ ผู้บริโภค คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 24.7 ระบุ ธนาคารที่ปล่อยกู้ ร้อยละ 23.4 ระบุ บริษัทสร้างบ้าน ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 21.1 ระบุผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้อยละ 12.2 ระบุธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 57.4 ระบุภาพลักษณ์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 37.4 ระบุ เหมือนเดิม และร้อยละ 5.2 ระบุ แย่ลง นอกจากนี้ เมื่อถามถึง การสืบสานอุดมการณ์ของอาจารย์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ของบุคลากรธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่ระบุ มากที่สุด ร้อยละ 34.1 ระบุ มาก ร้อยละ 29.8 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 17.1 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 11.2 ระบุน้อย และร้อยละ 5.5 ระบุไม่สืบสานเลย