การใช้โซเชียลมีเดียของแต่ละคนมีหลายระดับต่างกันไป ตั้งแต่...
- ตื่นมาคว้าโทรศัพท์ กดๆ สไลด์กันจนนิ้วล็อค
- บางคนอาจไม่ใช้เลยก็ยังมีอยู่บ้าง
- บางคนบอกว่าไม่ค่อยได้ใช้ Facebook หรือ Line เท่าไหร่ ดูแต่พวกวิดีโอใน YouTube
ความจริง Youtube เป็นโซเชียลมีเดียประเภทการแชร์ข้อมูล (Media Sharing) หนึ่งในประเภทของโซเชียลมีเดียเหมือนกับโซเชียล เน็ตเวิร์ค แพลทฟอร์ม (Social Network Platform) ต่างๆ อย่าง Facebook, Instagram รวมถึงโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter, Blog ต่างๆ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังอย่าง Tinder
ข้อดีของโซเชียลมีเดียมีหลายด้าน เป็นแหล่งหาความรู้ ข่าวสาร เพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร หรือเป็นช่องทางทำธุรกิจ
ในมุมมองทางสุขภาพจิต โซเชียลมีเดียช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม สร้างความรู้สึกของการมีตัวตนให้กับคนจำนวนมาก ในหลายคนแม้จะใช้โซเชียลมีเดียอยู่เสมอ แต่อาจเป็นเพียงลักษณะนิสัยและความเคยชินที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญ ส่งผลถึงความสัมพันธ์ เช่น การใช้มือถือหรือแท็บเล็ตระหว่างการกินข้าวกับกลุ่มเพื่อน การเลือกโพสต์รูป โพสต์สเตตัสต่างๆ ระหว่างเวลาที่ควรเป็นเวลาคุณภาพกับครอบครัว หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายและทรัพย์สิน เช่น การใช้มือถือระหว่างขับรถหรือเดิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ลักษณะการใช้งานอาจยังไม่ถึงขั้น "เสพติด" ในระดับที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ แต่หากใช้มากๆ ก็อาจกลายเป็นการ "เสพติด" ที่ส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เหงา สมาธิสั้น ได้
หากสงสัยว่า คุณติดโซเชียลมีเดีย สามารถเช็คเบื้องต้นได้ด้วย Bergen Social Media Addiction Scale (ออกแบบมาใช้สำหรับ Facebook แต่ได้ปรับให้สามารถใช้กับโซเชียลมีเดียทั่วไปได้) โดยถามคำถาม 6 ข้อนี้ กับตัวเองและให้คะแนน 5 ระดับ ได้แก่
0 คะแนน = น้อยมาก
1 คะแนน = น้อย
2 คะแนน = บางครั้ง
3 คะแนน = ค่อนข้างบ่อย
4 คะแนน = บ่อยมาก
คำถาม
1. ฉันใช้เวลามากในการคิด (หมกมุ่น) ถึงโซเชียลมีเดีย หรือวางแผนการใช้โซเชียลมีเดีย
2. ฉันรู้สึกว่ามีแรงกระตุ้นให้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ
3. ฉันใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้ลืมปัญหาส่วนตัว
4. ฉันพยายามลดการใช้โซเชียลมีเดียแต่ก็ไม่สำเร็จ
5. ฉันเริ่มกระสับกระส่ายหรือไม่สบายใจถ้าถูกห้ามไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดีย
6. ฉันใช้โซเชียลมีเดียมากจนก่อให้เกิดผลเสียต่อการงานหรือการเรียน
หากมีคำตอบอย่างน้อย 4 ข้อ ที่ได้คะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป (ค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยมาก) ถือว่าคุณมีโอกาส "ติดโซเชียลมีเดีย" แบบทดสอบนี้เป็นเพียงแบบทดสอบเบื้องต้น ส่วนจะ "ติด" หรือ "ไม่ติด" โซเชียลมีเดียอย่างแท้จริงนั้นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
โรงพยาบาลมนารมย์ ขอเชิญฟังบรรยาย ฟรี!!!
เรื่อง : สมองเสพติด พิษร้ายทำลายครอบครัว
วิทยากร : นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์
วัน เวลา : วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2561 เวลา 09:30 -12:00 น.
เนื้อหา : ครอบคลุมทุกปัญหาการเสพติด การดูแลรักษาและช่วยเหลือ
- บุหรี่ - อาการซึมเศร้าเพราะสูบบุหรี่จัด
- สุรา - อันตรายจากพิษสุราเรื้อรัง
- ยาเสพติด - กลไกสมองติดยา
- การพนัน - การพนัน เล่นผิด ติดจนตาย
- อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย - หยุดชีวิต ติดโซเชียล
สำรองที่นั่ง : โทร. 02 725 9595 หรือ http://www.manarom.com/seminar2018/drugs.html