นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงาน นักเทคโนโลยีดีเด่น กว่า 28 โครงการ และผลงานของ นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 35 โครงการ ซึ่งได้คัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นและเข้ารอบสุดท้าย รวม 5 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ นักเทคโนโลยีดีเด่น ดร.จิตติวุฒิ สุวัตถิกุล ตำแหน่ง นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ผลงาน เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ 2.) ศาสตรจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ตำแหน่ง ศาสตรจารย์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงาน เทคโนโลยีวิศวกรรมถนนและขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อยกระดบความปลอดภัยของโครงข่ายถนนและสนับสนุนแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ 3.) นายสุว้ฒน์ รติวัชรากร และคณะ ตำแหน่ง วิศวกรระดับ 8 แผนกระบควบคุมเครื่องจักรไฟฟ้า กองเครื่องจักรไฟฟ้าฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า สำนักงาน กฟผ. ไทรน้อย ผลงาน ระบบควบคุมแรงดันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Redundancy และในส่วนของ นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้แก่ 1.) ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลงาน เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.) ดร.สุพรรณ ยอดยิ่งยง อาจารย์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน การสังเคราะห์ซิลิกาแอโรเจลชนิดทรงกลม
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของนักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยที่มีความมานะ อุตสาหะให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างคนเก่งในทุกระดับ สร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ประเทศพึ่งพาตัวเองได้ และสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ผ่านการสร้างนวัตกรรม แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่มีคนที่มีความสามารถที่จะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับ ไปสร้างเป็นเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อให้พวกเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นนักเทคโนโลยี จึงเป็นเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้แก่ นายสุว้ฒน์ รติวัชรากร และคณะ กับผลงาน ระบบควบคุมแรงดันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Redundancy และผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้แก่ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ กับผลงาน เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.กัญญวิมว์ กล่าวต่อว่า "ดิฉันขอแสดงความยินดีและความชื่นชมผู้ที่ได้แสดงให้ประจักษ์แล้วว่า ท่านได้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศเราเองและนำไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ ทั้งคุณสุวัฒน์ รติวัชรากร และคณะ จากสำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไทรน้อย ซึ่งได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี พ.ศ.2561 และ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2561 ตลอดจนผู้เข้ารอบสุดท้ายทุกท่าน ซึ่งล้วนมีผลงานโดดเด่นในสาขางานวิจัยของตนเอง"
ศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า งานสัมมนา STI Forum and Outstanding Technologist Awards 2018 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเวทีคุณภาพด้านนวัตกรรมระดับโลก เนื่องด้วยวิทยากรล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชั้นนำของโลก มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆและแนวคิดที่สามารถนำไปปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น