นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยเริ่มเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถย้ายธุรกรรมจากหน้าเคาน์เตอร์มาสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่คุ้นเคยกับช่องทางดิจิทัล ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินยุคดิจิทัลที่แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่จะเน้นใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนวัตกรรมด้านบริการทางการเงินที่ธนาคารกรุงเทพกำลังดำเนินการเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงทิศทางการพัฒนาระบบการเงินของประเทศไทยด้วย
"การนำระบบดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนด้านการทำธุรกรรม นอกจากเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้าแล้ว ในมุมของธนาคารเองก็สามารถลดต้นทุนลงได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมที่ไม่ได้มีความซับซ้อน เช่น การจ่ายบิล และเติมเงิน ซึ่งต้นทุนการทำธุรกรรมโดยใช้ช่องทางดิจิทัลจะต่ำกว่าช่องทางสาขามาก ขณะเดียวกัน เมื่อปริมาณธุรกรรมลดลง ธนาคารสามารถต่อยอดการบริการที่สาขาไปสู่การให้บริการในมิติอื่นๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริการได้ เช่น การให้คำปรึกษาและวางแผนทางการเงิน เป็นต้น"
เพื่อสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ล่าสุดธนาคารได้พัฒนาศักยภาพของตู้รับฝากเงินสด ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมรับชำระเงินค่าบริการต่างๆ และการเติมเงิน ได้ทั้งธนบัตรและเหรียญ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามารถทำรายการชำระค่าบริการและเติมเงินได้ด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านช่องทาง ดังกล่าวได้ ลูกค้าจึงไม่ต้องเสียเวลารอคิวที่สาขาและเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการ
โครงการดังกล่าว จะเริ่มนำร่องให้บริการตู้รับฝากเงินสด รูปแบบดังกล่าวผ่าน 5 สาขา ตั้งแต่ 19 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ประกอบด้วย สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า สาขาสยามพารากอน สาขาตลาดไท และสาขาซอยอารี โดยเบื้องต้นจะรองรับการทำรายการชำระเงินกับผู้ให้บริการ (Biller) บางรายเท่านั้น และจะทยอยเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการ (Biller) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
"ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ต้องการชำระบิลค่าบริการต่างๆ เป็นจำนวนเงินพอดีตามยอดเรียกเก็บ ลูกค้าจึงยังต้องทำรายการผ่านเคาน์เตอร์สาขา ซึ่งต้องเสียเวลารอคิวนาน ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของตู้รับฝากเงินสดให้สามารถรองรับธุรกรรมได้หลากหลายขึ้นและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ก็จะยิ่งสนับสนุนให้การย้ายธุรกรรมต่างๆ จากเคาน์เตอร์มาสู่ระบบดิจิทัลเป็นไปได้ง่ายขึ้น สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
นางปรัศนี กล่าวอีกว่า การเพิ่มความสามารถของตู้รับฝากเงินสดให้รองรับการทำธุรกรรมจ่ายบิล/เติมเงินด้วยเงินสดได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาศักยภาพของตู้รับฝากเงินสดของธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า โดยภายในปี 2562 ธนาคารมีแผนพัฒนาให้รองรับบริการอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย
"จากจุดเริ่มต้นนี้ เมื่อลูกค้าได้เริ่มทดลองและมีประสบการณ์ในการทำธุรกรรมผ่านช่องทาง Express Banking ได้ด้วยตนเอง แล้วขั้นต่อไปธนาคารสามารถแนะนำให้ลูกค้าสามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลอื่นๆ ได้ไม่ยาก เช่น บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นโอกาสให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสามารถทำรายการจ่ายบิลและเติมเงินได้ง่ายๆ แม้ว่าไม่มีบัญชีเงินฝากหรือบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารกรุงเทพก็ตาม" นางปรัศนี กล่าว