วันนี้ (19 ตุลาคม 2561) ที่จังหวัดปัตตานี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามติดตามความก้าวหน้าด้านสุขภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการป้องกันโรคหัดในพื้นที่ พร้อมรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามกำหนด
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 ตุลาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดทั่วประเทศ 2,495 ราย เสียชีวิต 6 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง สำหรับสถานการณ์โรคหัดจังหวัดยะลาพบผู้ป่วย 383 ราย เสียชีวิต 6 ราย รองลงมาคือจังหวัดปัตตานี 115 ราย และจังหวัดนราธิวาส 57 ราย ตามลำดับ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ "ไข้ออกผื่น" โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขาเมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อย ๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุยหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา
ทั้งนี้ นโยบายการควบคุมโรคหัด สามารถควบคุมได้ด้วยประชารัฐร่วมใจในทุกพื้นที่ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เน้นการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค โดยการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ในเรื่องการให้วัคซีนโดยไม่ผิดหลักศาสนา และสนับสนุนให้มีคลังวัคซีนและจัดหาวัคซีนเพื่อการควบคุมและกำจัดโรคหัด ตามพันธะสัญญานานาชาติ
โรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่ายังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนทันทีได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วย ตาย ต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงและยังสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว แต่ยังคงเป็นอันตรายในเด็กเล็ก เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422