กรมประมง แจงด่วน !! สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ห้ามนำเข้า “น้ำปลาไทย” ทั้งระบบ และไม่ได้สุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็ง

พุธ ๒๔ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๒๔
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงหลังกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว น้ำปลาจากประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา ว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ได้เร่งประสานข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าสาเหตุที่ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ (USFDA) ได้ขึ้นบัญชี Import Alert เลขที่ 16-120 ประเภท Detention without Physical Exam (DWPE) โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาจากประเทศไทยบางแห่งไว้ เนื่องจากมีการตรวจพบว่ากระบวนการควบคุมการผลิต (HACCP) ของโรงงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัยHACCP (21 CFR 123.3) ของ USFDA ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสารโบลูทินัม และสารฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ USFDA ได้เสนอแนวทางแก้ไขกรณีดังกล่าว 2 แนวทาง คือ (1) ให้โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาของไทยปรับกระบวนการผลิตให้มีขั้นตอนการผ่านความร้อน หรือ (2) นำเสนอข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันว่ากระบวนการผลิตน้ำปลามีการควบคุมที่เทียบเท่ากับข้อกำหนด HACCP ของ USFDA และสามารถป้องกันการเกิดสารพิษดังกล่าวได้ ซึ่งขณะนี้ โรงงานฯ ได้มีการจัดส่งเอกสารชี้แจงตามข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัย HACCP ให้ USFDA แล้วแต่มีการเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้โรงงานฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ USFDA พิจารณา

โดยในส่วนของกรมประมง อยู่ระหว่างการจัดทำและรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการหมักน้ำปลาที่สามารถป้องกันการเกิดสารโบลูทินัม และฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการนำเสนอแนวทางการป้องกันปัญหากับ USFDA ต่อไป ส่วนกระบวนการให้ความร้อนซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ USFDA เสนอนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่ของไทยไม่นิยมนำมาใช้ปฏิบัติเนื่องจากจะทำให้กลิ่นและรสเฉพาะของน้ำปลาเปลี่ยนแปลงประกอบกับกระบวนการผลิตน้ำปลามีการใช้เกลือในปริมาณสูงเพียงพอที่จะยับยั้งการเกิดเชื้อโรคและสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้ง กระบวนการผลิตน้ำปลาของไทย ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการต้ม แต่ก็เป็นการผลิตตามมาตฐานการผลิตน้ำปลา(Standard for Fish Sauce; Codex Stan 302-2011) ของ CODEX ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

ดังนั้น การออกประกาศเตือน Import Alert น้ำปลาไทยในครั้งนี้ จึงไม่ได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การห้ามนำเข้า (Import Ban) น้ำปลาจากประเทศไทยทั้งหมดอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นการห้ามนำเข้าเฉพาะโรงงานที่อยู่ใน Import Alert เท่านั้น และไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะ USFDA ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ตรวจสารก่อมะเร็งในผลิตภัณฑ์น้ำปลาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใดเนื่องจากไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการผลิตน้ำปลา ประกอบกับประกาศ Import Alert เลขที่ 16-120 ก็มิได้มีการกล่าวถึงการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งในน้ำปลาด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกามีระบบการควบคุมการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด โดยมี USFDA เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล มีการใช้ระบบการป้องกันอันตรายจากสินค้าที่นำเข้าที่ USFDA เชื่อว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกา (Import Alert) การประกาศ Import Alert เป็นวิธีการของ USFDAในการแจ้งเจ้าหน้าที่ของตนที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจต่างๆ ให้ทราบว่าจะจัดการกับสินค้าดังกล่าวอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่มีการออกประกาศฯ เป็นประจำของ USFDA ที่จะเตือนและให้มีการกักกันสินค้าจากผู้ส่งออก/ผู้ผลิตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ได้มาตรฐานตามที่ FDAกำหนด การออกประกาศเตือน (Import Alert) มิได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การประกาศ Import Ban ประเทศผู้ส่งออกแต่อย่างใด โดยเหตุผลหลักที่สินค้าถูกระบุImport Alert แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่ USFDA กำหนด และระบบการควบคุมการผลิตของโรงงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัยของกฎระเบียบ HACCP (21 CFR 123.3) ทั้งนี้การประเมินระบบ HACCP ของ USFDA จะประเมินจากเอกสารคู่มือคุณภาพที่โรงงานส่งให้และมีระบบการสุ่มตรวจโดยการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจ ณ โรงงานผู้ผลิตเป็นครั้งคราว หลังจากถูกประกาศขึ้น List แล้ว การจะหลุดจากList ได้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกต้องมีการพิสูจน์ตนเอง หมายความว่า หากพบว่าระบบการควบคุมการผลิต (HACCP) ไม่ได้มาตรฐานโรงงานต้องจัดทำเอกสารเพื่อพิสูจน์ว่ามีการควบคุมตามข้อกำหนด ในกรณีสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ USFDA จะสุ่มตรวจสินค้าที่เข้ามาใหม่โดยต้องไม่มีปัญหาใด ๆ อีกอย่างน้อย 5 Shipments แล้วจึงทำการยื่นเรื่องต่อ USFDA ขอถอดถอนรายชื่อตนจาก List ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาประกาศรายชื่อประเทศผู้ส่งออกใน Import Alert เลขที่ 16-120 กว่า 40 ประเทศ และมีโรงงานในรายชื่อดังกล่าวกว่า 200 โรงงาน

สุดท้ายนี้ อธิบดีกรมประมง เน้นย้ำให้ผู้ส่งออกของไทยเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA เพื่อให้สินค้าของตนเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดและสามารถส่งออกไปขายสหรัฐได้ และขอให้ประชาชนผู้บริโภค อย่าเพิ่งวิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version