มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าภาพจัด ประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 (Sustainable University Network of Thailand Conference 2018) หัวข้อ "ปฏิบัติการความยั่งยืน 2561 : Action for the Goals" ณ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต วันที่ 25-26 ตุลาคม 2561 โดยมี รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการประชุมและมีตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. ในฐานะประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 เปิดเผยว่าปัจจุบันทุกภาคีให้ความสำคัญต่อ"เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติโดยเฉพาะปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงตลอดปี ที่ผ่านมาปรากฎการณ์คลื่นสึนามิถี่ขึ้น น้ำท่วมในหลายประเทศ ดินถล่มแผ่นดินไหว ไฟป่า ฯลฯ แนวโน้มเช่นนี้สหประชาชาตินิยามว่า Climate Catastrophe หรือหายนะทางภูมิอากาศและเตือนว่าอีกไม่ถึง 12 ปี โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจถึงจุดที่ไม่มีทางเยียวยาแก้ไขได้
"เป้าหมายของของการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยในปีนี้จึงต้องการให้เกิดปฏิบัติการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพราะสภาวะโลกร้อนและปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่อาจรอช้าได้อีกแล้ว ถึงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจะเป็นต้นแบบในภารกิจสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยและโลกใบนี้"
เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
โดยปี 2561 มุ่งเน้นเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ข้อที่ 12 เรื่องการบริโภคอย่างรับผิดชอบ(Responsible Consumption) โดยเครือข่ายฯ ได้ริเริ่มมาตรการลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (SINGLE USE PLASTIC) ในร้านสะดวกซื้อ โรงอาหารและร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัย โดยร่วมกับผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยขยะพลาสติกที่เป็นเป้าหมายในการลดและเลิก คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วเครื่องดื่มพลาสติก ช้อนส้อมและหลอดพลาสติก ซึ่งผลในการดำเนินการในปี 2561 จนถึงเดือนตุลาคม คือ ทั้ง 30 มหาวิทยาลัยสามารถลดถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อได้ถึง 41,000,000 ชิ้น
ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า นอกจากการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเหลือเฉพาะแต่ของร้อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้มีการดำเนินการลดช้อนพลาสติก ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบันได้กว่า 50,000 คัน ส้อมพลาสติกได้กว่า 30,000 ชิ้น (ช้อนส้อมลดลง 37%) และลดการใช้หลอดพลาสติกได้กว่า 250,000 หลอด ลดลง 34% นอกจากนี้ด้วยมาตรการเปลี่ยนแก้วพลาสติกแบบครั้งเดียวทั่วไปเป็นแก้วล้างกรณีดื่มในโรงอาหารหรือในบ้าน และมาตรการลดราคาถ้าเอาแก้วมาเอง ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถลดแก้วพลาสติกได้ถึงเดือนละ 120,000 ใบ ซึ่งการลดช้อนส้อมพลาสติกหลอดพลาสติกและแก้วพลาสติกยังได้มีการดำเนินการในอีกหลายมหาวิทยาลัย และจะได้มีการดำเนินการทั้ง 30 มหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต
"ความสำเร็จของการดำเนินการเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของทุกมหาวิทยาลัยและความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อร้านกาแฟร้านอาหารรวมทั้งมียุทธศาสตร์การสื่อสารและแอปพลิเคชันที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความยั่งยืน"
กิจกรรมในการประชุม "ปฏิบัติการความยั่งยืน 2561" มีกิจกรรมที่น่าสนใจมีมากมายประกอบด้วยการปาฐกถาโดย H.E. Mr.Staffan Herrstroem เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย การจัดเวทีเสวนาและการอภิปรายโดยมีวิทยากรชั้นนำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงผู้บริหารโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กิจกรรมสถานีสนทนา (Conversation) นำเสนอปฏิบัติการความยั่งยืนที่ดีที่สุด (Best Practice) ของมหาวิทยาลัยต่างๆ การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ใน 6 หัวข้อหลักได้แก่ พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงาน, การสัญจรอย่างยั่งยืน, การจัดการขยะครบวงจร, การวางแผนและบริหารจัดการอาคารสถานที่, การเรียนการสอนด้านความยั่งยืน การประกวดโครงงานนิสิตนักศึกษาเรื่องการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งและ E-Poster เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการเชิญทุกภาคส่วนร่วมดูงานการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตอาทิ โครงการโซลาร์รูฟท็อป 10 เมกะวัตต์, โซลาร์บัส, โซลาร์ไรด์, โซลาร์คาเฟ่ โครงการมหาวิทยาลัยสุขภาพดีและชีวิตท้าทาย การจัดการต้นไม้ใหญ่ด้วยการอบรมรุกขกรแปลงผักออร์แกนิค และการผลิตถ่านไบโอชาร์โคล (Bio-charcoal) เป็นต้น