ข่าวแถลงกรมศุลกากร ฉบับที่ 2-2562 กรมศุลกากรเน้นนโยบายดำเนินการ งานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก

ศุกร์ ๒๖ ตุลาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๓๒
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561) เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายดำเนินการงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตลอดจนนโยบายและโครงการต่างๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่ประชาชนสนใจในขณะนี้ ได้แก่ 1. กรมศุลกากร ร่วมแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยพ้นจากบัญชีดำงาช้างไซเตส 2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าว 3. รายงานความก้าวหน้าคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) 4. แจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อการจัดทำหนังสือฉบับพิเศษ 144 ปี กรมศุลกากร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. กรมศุลกากร ร่วมแสดงความยินดีกับการที่ประเทศไทยพ้นจากบัญชีดำงาช้างไซเตส

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสมีมติให้ออกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้าง (National Ivory Action Plan) ซึ่งกรมศุลกากรในฐานะคณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เป็นประธาน ได้บูรณาการการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผลให้ในระหว่างการดำเนินการแผนปฏิบัติการงาช้าง ปีงบประมาณ 2557-2561 มีผลการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 43 คดี ปริมาณงาช้างของกลางมากกว่า 4.5 ตัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งให้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสถอดประเทศไทยจากบัญชีดำงาช้างไซเตส เนื่องจากประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่นำเข้าจากแอฟริกา

เพื่อแสดงถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างทั้งในประเทศและในภูมิภาค กรมศุลกากรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายด้วยการสืบสวนและหาข่าวการค้างาช้างผิดกฎหมายในพื้นที่เสี่ยง เช่น บริเวณชายแดน สนามบิน โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย มีการวิเคราะห์เส้นทางที่มีความเสี่ยงในการลักลอบขนส่งงาช้างผิดกฎหมายตามหลักบริหารความเสี่ยง และเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากประเทศที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะที่มาจากจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นผลให้กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดงาช้างได้จำนวนมากตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว และนอกจากงาช้างแล้ว ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพในการตรวจยึดการลักลอบสัตว์ป่าประเภทอื่น ๆ ทั้งนอแรด ลิ่นและเกล็ดลิ่น เต่า ด้วย โดยมีผลการตรวจยึด ดังนี้

ประเภท ปีงบประมาณ 2557-2561

จำนวน ปริมาณ

(คดี)

1. งาช้าง 43 3,577 กิ่ง/ท่อน/ชิ้น

/ 76 กิโลกรัม

2. นอแรด 8 85 ชิ้น

3. เต่า 48 16,084 ตัว

4. ตัวลิ่น/เกล็ดลิ่น 22 805 ตัว/7,157 กิโลกรัม

5. สัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ตัวนาก, นก,ไข่นก เป็นต้น 123 20,144 รายการ

รวม 244

เพื่อให้การขยายผลในการจับกุมไปยังผู้เกี่ยวข้องในขบวนการลักลอบทั้งหมด กรมศุลกากรได้ประสานข้อมูลการข่าวกับทั้งประเทศต้นทาง ทางลำเลียง และประเทศปลายทาง เพื่อสกัดกั้นการลักลอบค้าสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส โดยใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการกระทำความผิด ซึ่งผลสำเร็จของการประสานข้อมูลการข่าวจากศุลกากรไทยไปยังศุลกากรประเทศต่างๆ มีดังนี้

1. ในปี 2558 ได้มีการประสานงานกับศุลกากรสิงคโปร์ เพื่อแจ้งข้อมูลความเสี่ยงการลักลอบงาช้างจากประเทศเคนยาไปประเทศเวียดนาม เป็นผลให้ทางการสิงคโปร์สามารถตรวจยึดงาช้างที่ได้ จำนวน 3.7 ตัน ซึ่งเป็นการตรวจยึดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์

2. ในช่วงเดือน มีนาคม 2559 ได้มีการประสานงานไปยังศุลกากรเคนยา เพื่อแจ้งข้อมูลการลักลอบงาช้างจากประเทศโมซัมบิค ทำให้ศุลกากรเคนยาตรวจยึดงาช้างได้ จำนวน 18 ท่อน น้ำหนัก 64.12 กิโลกรัม

3. ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ได้มีการประสานงานกับศุลกากรสิงคโปร์ เพื่อส่งข้อมูลความเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นผลให้สามารถตรวจยึดนอแรดได้ 8 ชิ้น

4. ในระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2560 ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย สปป.ลาว รวม 3 ครั้ง เพื่อส่งข้อมูลความเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นผลให้สามารถตรวจยึดนอแรดและงาช้างได้ทั้ง 3 ครั้ง

2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าว

นายชัยยุทธ คำคุณ กล่าวว่า ตามที่มีข้อร้องเรียนของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภายในประเทศ กรณีราคามะพร้าวผลตกต่ำ เนื่องจากมีการนำเข้ามะพร้าวผลจากต่างประเทศจำนวนมาก และอาจมีปัญหาการลักลอบสินค้ามะพร้าว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรได้ดำเนินการแก้ไขดังนี้

(1) กรมศุลกากรได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้เดือนร้อนจากปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว และได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ซึ่งกรมศุลกากรได้รับมอบหมายในส่วนของการป้องกันการลักลอบและนำเข้ามะพร้าวผิดกฎหมาย และให้เข้มงวดกับการตรวจปล่อยสินค้ามะพร้าวนำเข้า

(2) กรมศุลกากรได้สั่งการให้สำนัก/ด่านศุลกากรทุกแห่ง เข้มงวดในการตรวจปล่อยมะพร้าวผลเป็นกรณีพิเศษแล้ว

(3) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 กรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าสินค้ามะพร้าวผลจำนวน 10 ราย ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิการยกเว้นภาษีอากรทั้งหมดตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดให้ต้องนำเข้าเพื่อการแปรรูปในกิจการของตนเอง และจะไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ โดยเมื่อผลการตรวจสอบแล้วเสร็จ พบว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไข กรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการพิจารณายุติการอนุญาตนำเข้าต่อไป

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กรมศุลกากรได้จับกุมผู้ลักลอบการนำเข้ามะพร้าว จำวนวน 3 ราย ปริมาณ 45,540 กิโลกรัม มูลค่า 528,437 และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความผิด จำนวน 10 ราย

ที่มา: สำนักสืบสวนและปราบปราม

3. รายงานความก้าวหน้าคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ของคณะทำงาน e-Commerce ระบุว่า ความก้าวหน้าของคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีดังนี้

(1) ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce ผ่านการปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบของเร่งด่วน ณ สำนักงานตรวจสินค้าท่าอากาสยานสุวรรณภูมิ

สืบเนื่องจากปริมาณการค้าแบบ Online เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce แบบของเร่งด่วน ทางสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ของที่มีราคา FOB. ไม่เกิน 40,000 บาท/รายการ และนำเข้าโดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนตามมาตรฐานของกรมศุลกากรเท่านั้น เช่น DHL FEDEX TNT UPS Kerry Express Lazada และ LMS เป็นต้น (ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 130/2561)

ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีปริมาณการนำเข้าเป็นจำนวน 11.98 ล้านหีบห่อ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ถึง 54.54% มูลค่าการนำเข้า 14,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 34.71% และจัดเก็บภาษีอากรได้ 1,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 28.86%

(2) ความก้าวหน้าของคณะทำงาน e-Commerce

คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการการจัดทำระเบียบศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและเชื่อมโยงการค้าโลก มีกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการจนแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปจนถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. 2562 มีความคืบหน้า ดังนี้

กรมฯ เห็นชอบในร่างหลักการของ ร่างประกาศศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองทางด้านข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย

ทั้งนี้ พิธีการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cross Border e-Commerce Model) มีรูปแบบและสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รองรับการนำเข้าทุกรูปแบบ ทั้งทางอากาศยาน เรือ รถ และรถไฟ (Multimodal Transportations) และควบคุมการขนย้ายสินค้าจากท่าที่นำเข้าไปยังเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC โดยเทคโนโลยีระบบอี-ล็อค (e-Lock) เพื่อป้องกันการสูญหายของสินค้าระหว่างการขนย้าย

2. การปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่เรียบง่าย การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับอนุญาตให้จัดทำใบขนสินค้าแบบเรียบง่าย หรือ Simplified Declaration เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการจัดทำใบขนสินค้าทั่วไป

3. การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับยกเว้นใบอนุญาตในการนำเข้า

4. การควบคุมระบบบัญชีสินค้า เข้า – ออก เขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด (QR Code)

5. สินค้าทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบด้วยระบบเอ็กซเรย์ที่ได้มาตรฐาน

6. มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร

7. มีระบบรักษาความปลอดภัยในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยกล้องวงจรปิด ตลอด 24 ชั่วโมง

8. ได้สิทธิในการเก็บรักษาสินค้าในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เป็นระยะเวลา 2 ปี

9. รองรับการนำสินค้าในประเทศเข้าเก็บในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ มาตรฐานของการให้บริการทางศุลกากรสำหรับ e-Commerce รูปแบบใหม่นี้ จะเป็นไปตามหลักการอำนวยความสะดวกทางการค้าและมาตรฐานสากล

ที่มา: สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศสุวรรณภูมิ

4. แจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อการจัดทำหนังสือฉบับพิเศษ 144 ปี กรมศุลกากร

นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ที่อ้างตัวเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าโฆษณาในการจัดทำหนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" และมีการกำหนดอัตราค่าโฆษณาไว้อย่างชัดเจนเป็นจำนวนหลักหมื่นขึ้นไป พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่ากรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือดังกล่าว กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการว่าจ้างสื่อสิ่งพิมพ์รายใดจัดทำหนังสือรายงานพิเศษเนื่องในโอกาส "ครบรอบ 144 ปี กรมศุลกากร" ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการจัดงาน ครบรอบ 144 ปี เสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

ที่มา: สำนักบริหารกลาง

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมศุลกากรที่ถูกต้องตรงประเด็นได้ 4 ช่องทาง ดังนี้

1. website : https://www.Customs.go.th

2. Facebook : https://www.facebook.com/customsdepartment.thai/

3. Youtube : https://www.youtube.com/theprcustoms

4. Line Official Account

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version