นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobpol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีในอัตรา 4.9% และ 4.6% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าคาด เพราะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศกดดัน อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ติดลบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.ค. 2561 นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมถึงการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินของประเทศคู่ค้าซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย
"การส่งออกและท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีประเด็นหลายอย่างเข้ามากระทบ ซึ่งอาจกลายเป็นความเสี่ยงฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดย TISCO ESU อยู่ระหว่างปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จากปัจจุบันที่ประเมินว่าในไตรมาส 4 ของปี 2561 GDP ไทยจะเติบโตในระดับ 4.3% และทั้งปี 2561 จะเติบโต 4.4% ขณะที่ปี 2562 คาดว่า GDP ไทยจะเติบโต 4.2%" นายคมศรกล่าว
โดยในประเด็นการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนเกือบหนึ่งในสามของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดนั้น พบว่า หลังเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดนักท่องเที่ยวจีนในเดือน ก.ย. 2561 เริ่มหดตัว 14.9%YoY หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีต เช่น เหตุประท้วงและการรัฐประหารในปี 2557 และเหตุระเบิดพระพรหมในปี 2558 พบว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะทรุดลงไปประมาณ 4 เดือน ก่อนเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในเดือนที่ 5 จึงคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่ฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปี 2561
สำหรับแรงกดดันในส่วนภาคการส่งออกของไทยจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนเริ่มได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว โดยยอดการส่งออกเดือน ก.ย. 2561 หดตัว 5.2% YoY และการส่งออกไปจีนหดตัว 14.1% YoY ซึ่ง TISCO ESU คาดว่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังจีนจะยังถูกกดดันต่อในไตรมาส 4 เนื่องจาก ปัจจัยบวกจากการเร่งส่งออกสินค้าของจีนเริ่มหมดลง หลังจากภาษีนำเข้าสินค้าก้อนใหญ่มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. 2561
นอกจากนี้ยังประเมินว่า การอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 โดยนับตั้งแต่เดือนส.ค.2561 ค่าเงินของประเทศ EM หลายประเทศอ่อนค่าลงรุนแรง จากความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จุดชนวนให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาโดยตลอดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค
อีกทั้ง หากพิจารณาถึงประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย พบว่าประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เมียนมาร์ แอฟริกาใต้ บราซิล ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงเกือบ 20% ของมูลค่าการส่งออกไทย พบว่า นับจากต้นปีมีการอ่อนค่าลงของค่าเงินมากกว่า 8% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงตามไปด้วย