นายพลณุศักดิ์ วงษาสุข หรือ อาจารย์ตุ้ย เล่าว่า "การถ่ายภาพแนวสตรีท ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ในความเป็นจริงแล้วเสน่ห์ของการถ่ายภาพ "สตรีท" มีอีกมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเป็นเครื่องมือช่วยเก็บบันทึกเรื่องราวความทรงจำ เป็นตัวสะท้อนสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน เพื่อให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านไปเกิดอะไรขึ้นบ้าง นอกจากนี้การถ่ายภาพแนวสตรีท ยังถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของช่างภาพอีกด้วย เพราะการถ่ายภาพแนวนี้จำเป็นต้องอาศัย เทคนิค และความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพทุกศาสตร์เอามารวมกัน"
ดังนั้นวิธีการสร้างสรรค์ผลงานภาพสตรีทให้ออกมาน่าสนใจ สามารถเก็บได้ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ส่วนตัวจะมีวิธีการคิด แบ่งออกเป็น 3 ลำดับขั้น คือ เริ่มจาก "สร้างเรื่อง" เบสิคของการถ่ายภาพทุกภาพ คือการจินตนาการว่าสิ่งที่ต้องการนำเสนอ หรือภาพที่กำลังจะถ่ายนั้นจะเล่าออกมาเป็นเรื่องอะไร อยากจะให้คนเห็นข้อความอะไรที่เราส่งออกไป เช่น การนำเสนอชีวิตผู้คนย่านเมืองเก่า การแสดงศิลปะวัฒนธรรมของไทย เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ต้องคิดเรื่องที่ซับซ้อนยากมาก เริ่มจากโจทย์ง่ายๆ ที่สามารถทำได้และพยามฝึกถ่ายทุกวัน เพื่อเป็นการฝึกกระบวนการทางความคิด
สิ่งต่อมาคือ "การมอง" เมื่อไปถึงแต่ละสถานที่ อย่างแรกที่ช่างภาพควรทำคือ การใช้เวลากับการดื่มด่ำกับสถานที่นั้นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดซึมซับไปกับจังหวะการใช้ชีวิตของผู้คน สิ่งแวดล้อม บริบทรอบข้าง และเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งเรามองเยอะก็จะสามารถเก็บรายละเอียด หามุมมองใหม่ๆ ได้มากขึ้น เช่น ชุมชนนี้นิยมเดินทางด้วยเรือ ดังนั้นภาพถ่ายที่สะท้อนออกมาก็ควรใช้เรือเป็นพระเอกของภาพ หรือ บางชุมชนโดดเด่นเรื่องการทำหัตถกรรม เราก็ควรสะท้อนให้ถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชนนั้น เป็นต้น
สิ่งสุดท้าย คือการลงมือ "กดชัตเตอร์" ในส่วนนี้ที่เหล่าช่างภาพต้องดึงศาสตร์หรือเทคนิคการถ่ายภาพที่ได้ร่ำเรียนมา เพื่อมาใช้เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายให้มีความน่าสนใจ ซึ่งหากมองให้ดีภาพสตรีทส่วนใหญ่ จะมีทั้งหมดประมาณ 3 แนว คือ "บุคคล" (People) การถ่ายภาพบุคคลในแนวสตรีท ภาพต้องเล่าเรื่องได้ว่า เขาเป็นใคร ทำอะไรอยู่ และทำที่ไหน ซึ่งภาพถ่ายควรเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น เน้นความเป็นเรียลลิสติค (Realistic) โดยส่วนใหญ่จะเน้นการถ่ายแนวแคนดิด (Candid) เพื่อให้ได้อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลคนนั้นจริงๆ แต่การถ่ายภาพบุคคลจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย ถ้าหากเราต้องการนำภาพไปเผยแพร่ ก็ควรมีการขออนุญาตบุคคลในภาพก่อน
ต่อมาคือการถ่ายภาพ "สถานที่" (Landscape) เป็นการถ่ายภาพสถานที่ วิว สถาปัตยกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมอีกเช่นกัน โดยเทคนิคง่ายๆ การถ่ายภาพแนวนี้ เมื่อเราไปถึงสถานที่นอกจากดื่มด่ำกับจังหวะชีวิตของสถานที่นั้นแล้ว ให้ลองมองหาเส้นนำสายตา สีสันที่ตัดกันของตัวอาคาร หรือลวดลาย เทกเจอร์ ที่แปลกตาและโดดเด่น เพราะหากสังเกตให้ดี เส้นนำสายตาจะซ่อนอยู่ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน ถนน หรือแม้แต่อาคารที่ออกแบบเจ๋งๆ เพียงแค่นี้ก็จะทำให้เราได้ภาพถ่ายโดนๆ
และสุดท้าย คือการถ่ายภาพ "เคลื่อนไหว" (Movement) ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของภาพถ่ายแนวสตรีท การถ่ายภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว ให้ได้รูปภาพที่ออกมาแล้วยังคงเคลื่อนไหวอยู่ เช่น ภาพผู้คนใจกลางเมืองที่มีเดินกันขวักไขว่ ภาพของรถตุ๊กตุ๊กที่กำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพแนวนี้ ควรอาศัยอุปกรณ์การถ่ายภาพเข้ามาเป็นตัวช่วย เช่น เลนส์มุมกว้าง เพราะจะทำให้รูปภาพดูมีมิติการเคลื่อนไหวมากขึ้น และขาตั้งกล้องที่จะช่วยเราในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้ออกมามีประสิทธิภาพ
ใครที่กำลังมองหาแนวทางในการถ่ายภาพแนวสตรีท สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ หรือถ้าอยากจะพัฒนาตัวเองให้มีความเชียวชาญด้านการถ่ายภาพมากขึ้น สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปสุดเอ็กซ์คลูซีฟกับ บิ๊ก คาเมร่า เช่นนี้ได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บิ๊ก คาเมร่า (BIG CAMERA) ทั้ง 230 สาขาทั่วประเทศไทย หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bigcamera.co.th, Facebook : BIGCAMERACLUB, Instagram : BIGCAMERA_CLUB, Youtube : BIGCameraTV