30 ต.ค 61 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า วันนี้ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ทำหนังสือถึง ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความชื่นชมและสนับสนุน กรณีที่เตรียมปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ยกเลิกให้ภาคเอกชนไม่ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องขอต่อทุก 5 ปี เสียค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 1,500 - 60,000 บาทต่อใบอนุญาต ขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของเครื่องจักร โดยจะเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการโรงงานรับรองตนเองแทน และมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจภายหลังพร้อมรับรองความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ
โดยในหนังสือดังกล่าวได้ระบุว่า
"ตามที่ท่านได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ให้ยกเลิกการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องขอต่อทุก 5 ปี โดยให้ใช้มาตรการตรวจสอบและควบคุมอื่นที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบันแทน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอแสดงความชื่นชมและสนับสนุนวิสัยทัศน์ดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาขั้นตอนการยื่นขอต่อใบอนุญาตที่มีเงื่อนไขยุ่งยาก ซับซ้อน มักเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับสินบน และส่งผลกระทบในทางลบตามมาอีกมาก การลดขั้นตอนและปรับปรุงการให้บริการของรัฐให้โปร่งใสเช่นนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอและเป็นแบบอย่างการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง"
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4 ) เป็นหนึ่งในความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข และยังเป็นประเด็นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯเรียกร้องให้ คสช.หลังยึดอำนาจไม่นานให้แก้ไขด้วย เพราะว่า เป็นที่มาของการคอร์รัปชันจากการเรียกรับสินบนในการออกใบอนุญาตต่างๆ นอกจากนี้ยังร่วมกับนักวิชาการและภาคี ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้การบริการประชาชนทุกอย่างต้องสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและสร้างภาระให้กับประชาชนน้อยที่สุด โดยหน่วยงานของรัฐต้องปรับปรุงวิธีการทำงานของตนให้มีขั้นตอน เอกสาร กระบวนการที่ง่ายและมีเท่าที่จำเป็น มีคู่มือบริการที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปคอร์รัปชันที่เกิดจากการใช้ช่องว่างของกฎหมายกระทำการทุจริตต่อประชาชนที่เข้าใช้บริการจากหน่วยงานราชการ