ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สมาคมฯ) เชิญชวนกองทุนที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นปีที่ 7 ประจำปี 2561 ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อคัดเลือกกองทุนที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาลการลงทุน มาตรฐาน
ในการควบคุมและตรวจสอบการจัดการลงทุนเพื่อให้เงินกองทุนงอกเงย บทบาทของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ต่อการส่งเสริมกระบวนการให้ความรู้แก่สมาชิก และการพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยครั้งนี้ยังคงนำเรื่องการประกาศรับปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน หรือ I Code เป็นหนึ่งในเกณฑ์
การพิจารณาตัดสิน และมีโล่รางวัลกองทุนพัฒนาดีเด่นจาก ก.ล.ต. ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับกองทุนที่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้ความสำคัญกับแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนตามมาตรฐานสากล (Global Investment Performance Standard: GIPS)
ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า "การประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น ชิงโล่พระราชทานในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 7 แล้ว วัตถุประสงค์สำคัญที่จะคัดเลือกกองทุนที่มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นที่ยอมรับของสมาชิกกองทุน สามารถทำให้เงินทุนของสมาชิกงอกเงย พอเพียงสำหรับไว้ใช้จ่ายในชีวิตภายหลังเกษียณ โดยรูปแบบการบริหารจัดการกองทุนที่ชนะการประกวด สามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้แก่กองทุนอื่น ๆ ได้ และยังกระตุ้นวงการอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นที่รับรู้ของสังคมไทยมากยิ่งขึ้น การจัดประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทกองทุนรัฐวิสาหกิจ ประเภทกองทุนบริษัทเอกชน และประเภทบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนที่สนใจสามารถสมัคร และส่งเอกสาร เข้าประกวดได้ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 และจะประกาศผลพร้อมมอบโล่รางวัล ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท"
นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือเพื่อการออมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องระยะยาว เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับตนเองได้เอาไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ซึ่งจะมีรายได้น้อยลงมากหรือไม่มีรายได้ แต่ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและการดูแลสุขภาพของตนเอง ปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้นจำนวน 383 กองทุน มีลูกจ้างรวมกันเป็นจำนวน 3ล้านคน นายจ้างรวม 17,866 ราย มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท กองทุนจึงเป็นแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ การจัดโครงการประกวดในครั้งนี้ จึงจะช่วยส่งเสริมให้นายจ้างให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ได้รับรู้ถึงผลประโยชน์ที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะได้รับจากการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการดูแลลูกจ้างที่เสมือนเป็นสวัสดิการให้มีเงินเพียงพอสำหรับอนาคตหลังเกษียณ และการนำหลัก I Code มาเป็นปัจจัยในการให้คะแนน สอดคล้องกับสิ่งที่ ก.ล.ต. ผลักดันให้ผู้ลงทุนสถาบันซึ่งรวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุนอีกด้วย"
ทั้งนี้ กองทุนที่จะเข้าร่วมประกวด จะต้องเป็นกองทุนที่จดทะเบียนกับ ก.ล.ต. ไม่น้อยกว่า 3 ปี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้อำนวยการสายงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการเข้าร่วมประกวด โดยการจัดประกวดกองทุนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทกองทุนรัฐวิสาหกิจ (2) ประเภทกองทุนบริษัทเอกชน และ (3) ประเภทบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดย 2 ประเภทแรกเป็นการประกวดกองทุนเดี่ยว และประเภทที่ 3เป็นการประกวดกองทุนร่วม (pooled fund)
สำหรับการพิจารณาคัดเลือก สมาคมฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาเอกสารการสมัคร โดยกองทุนที่ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาในรอบนี้จะผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ ซึ่งคณะกรรมการจะนำคะแนนทั้งสองรอบมาประกอบการพิจารณาตัดสินหาผู้ชนะเลิศ และผู้ได้รับรางวัลอื่น ๆ ต่อไป โดยจะมีการประกาศผลและมอบรางวัล
ซึ่งจะจัดขึ้นที่โรงแรมโซฟิเทล ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
กองทุนที่สนใจเข้าร่วมประกวดสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางwww.aop.or.th ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561