ภายในปี 2562 หลังจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหรัฐอเมริกา และมีชื่อเสียงระดับโลกได้จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการร่วมจัดการศึกษาที่ประเทศไทยในรูปแบบสถาบันร่วม (Joint Institute) ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) โดยจะจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นการสร้างความรู้และนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศและเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิตอล ฯลฯ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลมีเป้าหมายผลิตนักศึกษาปริญญาโท 200 คน ปริญญาเอก 80 คน นักวิจัยผลงานนวัตกรรมระดับโลก 50 คน ในระยะเวลา 10 ปี โดยจะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์
เลขาธิการ สกอ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลกจากหลายประเทศ ในการขออนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย อาทิ Les Roches Global Hospitality Education จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในหลักสูตร Hospitality and Leisure management มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) จากประเทศญี่ปุ่นในหลักสูตร Aerospace Engineering มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) จากสหราชอาณาจักรในหลักสูตรอุตสาหกรรมการบินและหุ่นยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อมีมหาวิทยาลัยระดับ top 100 ของโลก มาจัดการศึกษาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จะช่วยยกระดับศักยภาพของมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย และจะทำให้ไทยก้าวสู่ Education Hub ในอาเซียนได้อย่างก้าวกระโดด