ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงิน และการลงทุนของ AWN โดย AWN เป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อกลุ่ม โดยมีสัดส่วนรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) คิดเป็นร้อยละ 97 และ 85 ของกลุ่ม ตามลำดับ นอกจากนี้ AWN ยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกลุ่ม AIS โดยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1GHz และ 1.8GHz และ 900Mhz และเพิ่งชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz เพิ่มเติมจำนวน 5MHz ในเดือนสิงหาคม 2561
รายได้เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของบริการด้านข้อมูล: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ซึ่งรวมถึงรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) ของ AIS จะเติบโตประมาณร้อยละ 5-6 ต่อปี ในปี 2561 และ 2562 (ครึ่งปีแรกของปี 2561 เติบโตร้อยละ 4.9) เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการใช้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจำนวนผู้ใช้บริการบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี ในปี 2561 เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของการให้บริการที่ไม่ใช่เสียง จะถูกลดทอนโดยรายได้จากการให้บริการด้านเสียงที่ลดลง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงน่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มาอยู่ที่ 4 พันล้านในปี 2561 จาก 3 พันล้านบาท ในปี 2560 (ครึ่งปีแรกของปี 2561 มีรายได้ 2 พันล้านบาท)
กำไรเติบโต: ฟิทช์คาดว่า EBITDAR ของ AIS จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จาก 7.4 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จากการเติบโตของรายได้ และอัตราส่วนกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ของ AIS น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47-48 ในปี 2561 และ 2562 เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐลดลง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ AIS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ลดลง มาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 จากร้อยละ 7.7 ในปี 2560 นอกจากนี้ EBITDAR Margin ของ AIS ยังได้รับผลบวกจากการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) เป็นร้อยละ 2.5 ของรายได้ จากร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 EBITDA Margin ของ AIS ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47.5 จากร้อยละ 46.6 ในปี 2560
ความคล่องตัวในการรองรับการลงทุน: กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS น่าจะยังคงติดลบในปี 2561 แต่น่าจะปรับตัวเป็นบวกในปี 2562 (ปี 2560: ติดลบ 1.2 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการชำระค่าคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับต่ำในปี 2562 ประกอบด้วยเงินลงทุนด้านเครือข่ายของ AIS น่าจะปรับตัวลดลงในปี 2561 เนื่องจากบริษัทได้ผ่านช่วงการลงทุนสูงในการขยายเครือข่าย 3G และ 4G แล้ว เงินลงทุนด้านเครือข่ายน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2561 และ 2562 จาก 4.1-4.8 หมื่นล้านต่อปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 เท่า ในปี 2561 จาก 1.7 เท่าในปี 2560 ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต และความคล่องตัวด้านการเงินในการรองรับการลงทุนเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น
ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ครึ่งปีแรกของปี 2561: ร้อยละ 49) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของ AIS เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่า DTAC เนื่องจาก DTAC มีขนาดรายได้ที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า AIS อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC
อันดับเครดิตของ AIS อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ Telekom Malaysia Berhad หรือ TM ที่ 'BBB+' TM เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย TM มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า AIS จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและการแข่งขันที่ต่ำในตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าเนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และ มี EBITDAR Margin ที่สูงกว่า
อันดับเครดิตของ AIS สูงกว่าอันดับเครดิตของ PLDT Inc. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ AIS มีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งต่ำกว่า PLDT ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินที่ระดับ 2.6-2.8 เท่าถึงแม้ว่า AIS จะมีบริการโทรคมนาคมที่กระจายตัวน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ PLDT ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางจากสภาพการดำเนินธุรกิจ (Operating Environment) ในประเทศฟิลิปปินส์ ฟิทช์พิจารณา Operating Environment ของประเทศฟิลิปปินส์ อยู่ที่ระดับ 'bb' โดยพิจารณาถึงลักษณะการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของบริษัท และระบบธรรมาภิบาล (Systematic Governance) ในประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระดับต่ำ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากการให้บริการเติบโตร้อยละ 4-6 ต่อปี ในปี 2561 และ 2562
- EBITDAR Margin ในปี 2561 และ 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 47-48 (2560: ร้อยละ 45) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียม USO
- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (2560: 4.1 หมื่นล้านบาท)
- จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 70 ของกำไร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในแง่บวกของ AIS โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และ AWN ไม่อ่อนแอลง
ปัจจัยลบ
- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ AIS ในแง่ลบ
สำหรับอันดับเครดิตของ AIS ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตตามรายงานการจัดอันดับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2561 มีดังนี้
ปัจจัยบวก
- บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก
- EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่าร้อยละ 45 อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดสุทธิจะเป็นลบในปี 2561 โดยสภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งเพียงพอสำหรับชำระคืนหนี้ที่กำหนดชำระในปี 2561 จำนวน 9.3 พันล้านบาท นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 บริษัทมีวงเงินกู้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่ติดลบในปี 2561