นายขจิต สุขุม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือทีเอชนิค (THNIC) ได้เข้ามานำเสนอการส่งเสริมให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมลเป็นภาษาไทย เพื่อลดช่องว่างดิจิทัลด้านการสื่อสาร เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนในท้องถิ่นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหรือเข้าไปใช้บริการต่างๆ จากเว็บไซต์ที่ยังใช้แต่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
โดยหลังการรับฟังข้อเสนอแนวทาง เห็นด้วยว่าสอดคล้องกับการที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังพยายามที่จะให้ประเทศไทยเชื่อมโยงถึงกันได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ ฉะนั้นทุกคนควรที่จะสามารถสื่อสารผ่านระบบอีเมลที่จ่าหน้าเป็นภาษาไทยได้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยินดีให้การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ชื่อโดเมนที่มีตัวอักษรภาษาไทยมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการที่จะมีชื่ออีเมลเป็นตัวอักษรไทยด้วย ซึ่งจะทำให้คนไทยทั่วๆ ไปที่ไม่คุ้นชินกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ สามารถใช้บริการอีเมลได้กว้างขวางมากขึ้น
"เราให้เน็ตประชารัฐ เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสารติดต่อกันได้ ดังนั้นตรงนี้ก็สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ก็สามารถใช้ชื่ออีเมลภาษาไทยได้"
ดร.พจนันท์ รัตนไชยพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือทีเอชนิค (THNIC) กล่าวว่า จากการศึกษาความสำคัญของปัญหาการไม่มีชื่อโดเมนและชื่ออีเมลเป็นภาษาท้องถิ่น ได้ข้อสรุปหลักๆ ว่า ความยากลำบากในการการจดจำและการสะกดชื่อโดเมนและชื่ออีเมลเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น การระบุชื่อโดเมนหรือชื่ออีเมล ทางวิทยุ หรือโทรศัพท์ หรือการแจ้งชื่อตามป้ายประกาศต่างๆ การสะกดคำไทยเป็นภาษาอังกฤษทำได้หลายรูปแบบ (Transliteration Problem) วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญแม้ในโลกอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ทั้งนี้ ชื่อโดเมนภาษาไทย และอีเมลภาษาไทย จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะปัจจุบันยังมีบางส่วนในพื้นที่ไกลๆ หรือคนสูงอายุที่มีปัญาในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ควรเพิ่มศักยภาพให้การเข้าถึงครอบคลุมไปถึงกลุ่มปลายทางได้ นี่คือวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ ลดอุปสรรคด้านภาษา ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น