บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้รับผิดชอบโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ "ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์" ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เชิญนักลงทุนเอกชนร่วมรับฟังนโยบายและแผนงานรวมถึงรายละเอียดในการพัฒนาโครงการฯ รูปแบบในการให้เอกชนร่วมลงทุน ตลอดจนข้อกำหนดสำคัญในร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในการจัดสัมมนารับฟังความเห็นเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โดยเป็นการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากจากการรับฟังความเห็นเอกชนครั้งที่ 1 เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจและมุมมองของเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ และอนาคตจะเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการโครงการฯ ทั้งนี้เน้นรับฟังความเห็นจากผู้ร่วมสัมมนาเป็นกลุ่มนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนด้านพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล โดยมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมสัมมนาทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปและอเมริกา ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจและสามารถมองถึงทิศทางความต้องการของกลุ่มลูกค้าในอนาคตซึ่ง CAT จะได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่เหมาะสมจากเอกชนที่ร่วมสัมมนาในครั้งนี้มาปรับให้ร่างทีโออาร์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นจะจัดรับฟังความเห็น Market Sounding อีกครั้งหนึ่ง ก่อนสรุปเป็นข้อเสนอทีโออาร์ให้ทันตามแผนที่กำหนดจะเปิดขายเอกสารคัดเลือกเอกชนให้แก่ผู้สนใจยื่นข้อเสนอได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนและประกาศผลการคัดเลือกเอกชนที่ร่วมลงทุนในโครงการฯ ได้ราวต้นปีหน้า
โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ บนพื้นที่ 709 ไร่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยโครงถูกออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ ที่รายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวภายในพาร์ค โดยเอกชนผู้ลงทุนในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์จะได้รับการการสนับสนุนและสิทธิพิเศษต่างๆ ตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ความเห็นชอบ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ซึ่งยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด ไม่เกิน13 ปี ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์มีพร้อมด้านโครงสร้างระบบพื้นฐานโทรคมนาคมที่ดูแลโดย CAT อีกทั้งรัฐบาลยังจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งที่สะดวก เพื่อรองรับการลงทุนร่วมของภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ มุ่งหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ให้นำองค์ความรู้และศักยภาพด้านการเงิน เข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาดิจิทัลอีโคซิสเต็มในพื้นที่ของดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 เพื่อที่ในอนาคตจะพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ต่อไป