ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า "โครงการ Coding Thailand เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงดีอี และ ดีป้า ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 โดยดีป้า ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม www.CodingThailand.org ในเฟสแรกไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีพันธมิตรที่เป็นต้นแบบหลักสูตรอย่าง Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอมเริกา พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน อย่าง ไมโครซอฟท์ กูเกิล ซิสโก้ อักษรเอ็ดดูเคชั่น ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ เยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ รวมถึงกลุ่มโรงเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนไทยของเรา โดยระยะเวลาประมาณ 4 เดือนหลักจากเปิดตัว ดีป้า มุ่งสร้างความตระหนักและส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ ผ่าน www.CodingThailand.org โดยมีผู้เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มแล้วกว่า 6 แสนราย นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีการสร้างประสบการณ์ด้านโค้ดดิ้งให้แก่เยาวชนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ซึ่งมีน้องๆเยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้การเป็น Coder และ Maker ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป และ กิจกรรมการแข่งขัน กว่า 2,600 ราย และ มีผู้ชมผ่านออนไลน์ในช่วงการจัดงานฯ อีกกว่า 60,040 ครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของเยาวชนไทย ซึ่ง ดีป้า จะยังคงเดินหน้าผลักดันให้ Coding Thailand เป็นแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล โดยตั้งเป้าเข้าถึงเยาวชนกว่า 6 ล้านรายในปี 2562 และขยายสู่ 10 ล้านรายภายใน 3 ปี"
"ในส่วนของการหารือความร่วมมือกันในวันนี้ จะเป็นการบูรณาการจุดแข็งและประสบการณ์ของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันผลักดันให้ Coding Thailand เป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในประเทศไทยที่จะใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในอนาคต โดยบทบาทสำคัญของดีป้าอย่างหนึ่งคือ ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับกำลังคนดิจิทัลของ ประเทศไทย ผ่านแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งจะมีกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบเชิงรุกโดยมุ่งมั่นในการ เข้าถึงโรงเรียนและกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 2,000 โรงเรียน หรือประมาณ 200,000 คน และยังมีรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมที่กำลังจะมาถึง คือ Coding Thailand Online Quiz & Challenge กิจกรรมส่งเสริมเรียนรู้แบบสนุกๆ กับการแก้โจทย์ด้วยบล็อคโค้ด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ www.CodingThailand.org ชิงทุนการศึกษาและรางวัลรวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท โดยตั้งเป้าผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 2,500 ราย ทั่วประเทศ"
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า "Code.org หนึ่งในพันธมิตรสำคัญจะมีบทบาทในการสนับสนุนเนื้อหาการเรียนรู้และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับโลก และถ่ายทอดประสบการณ์ในการส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีนักเรียนกว่า 25 ล้านคน และ ครูราว 800,000 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ได้เคยเรียนรู้บนแพลตฟอร์มของ Code.org สำหรับ Microbit.org ก็มีบทบาทสำคัญในการต่อยอดทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน สู่การสร้างสรรค์ นวัตกรรมและโครงงาน ในกลุ่มเยาวชนและโรงเรียน เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นฐานด้านความคิด พัฒนาทักษะ และ กระบวนการทางความคิด นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับดีป้าได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่าน CodingThailand.org สู่โรงเรียนกว่า 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบูรณาการการเรียนรู้จากแพลตฟอร์มสู่อุปกรณ์สมาร์ตดีไวซ์เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานหรือนวัตกรรม ขณะที่ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ร่วมจับมือใน กิจกรรม Hour of Code 2018 ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน สุดท้ายคือ อักษร เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก Code.org ให้เป็น International Professional Development Partner จะร่วมสนับสนุนด้านหลักสูตรการเรียนรู้ให้เหมาะกับบริบทในประเทศไทย โดยการพูดคุยกันในวันนี้เพื่อการบูรณาการและกำหนดเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นในยุคศตวรรษที่ 21"