ไทยเข้ม เดินหน้าสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ให้ได้ 490 แห่งในปีนี้

จันทร์ ๐๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๑:๕๐
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กับ 17 ภาคี ตั้งเป้าผลักดันสถานที่จัดงานไมซ์ให้ได้มาตรฐาน 490 แห่งในปีนี้ พร้อมเผยให้คะแนนด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อความยั่งยืน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยถึงการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) ถือว่าเป็นภารกิจหลักอันหนึ่งในงานด้านการพัฒนาเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานบริการสถานที่จัดงานไมซ์ และการส่งเสริมตลาดให้กับผู้ประกอบการไมซ์ไทยอีกด้วย

ทีเส็บได้ร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง อาทิ เช่น สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการปกครอง สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก เป็นต้น ในการวางกรอบการพัฒนาและปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีขั้นตอนการดำเนินโครงการ 3 ขั้นตอน 1. เริ่มจากการให้องค์ความรู้ 2. การตรวจประเมิน และ 3. การรับรองผล

โดยขั้นตอนการให้องค์ความรู้นั้น จะมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในเชิงลึกถึงมาตรฐานแต่ละตัวแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งปีนี้ทีเส็บได้มีการอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 10 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ระยอง ภูเก็ต นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา และพัทยา ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งสิ้น 553 คน จากสถานประกอบการไมซ์ 267 แห่ง และมีผู้สนใจเข้าตรวจประเมินในปีนี้จำนวน 181 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีต่อมาตรฐาน TMVS และมีการต่ออายุ (Re-assessment) กว่า 74% ซึ่งเป็นผลตอบรับที่ดีเกินคาด

ส่วนขั้นตอนการตรวจประเมินสถานที่จัดงานประเภทห้องประชุม จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาในด้านกายภาพ เทคโนโลยี และการจัดการ-บริการ ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาด้านการจัดการอย่างยั่งยืน ส่วนประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งให้การสนับสนุน และการจัดการอย่างยั่งยืน กำหนดเป็นตัวชี้วัดในการตรวจประเมินสถานที่จัดงานในแต่ละประเภท

และขั้นตอนสุดท้าย การรับรองผลมาตรฐานสถานที่การจัดงานประเทศไทย โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการปกครอง สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก เป็นต้น หากผู้ประกอบการผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ทีเส็บจะดำเนินการออกใบรับรองซึ่งมีอายุรับรอง 3 ปี และรายชื่อทั้งหมดจะอยู่ในแผนการประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาดของ สสปน. เพื่อเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการมาใช้บริการต่อไป

ด้าน ดร. ณัฏฐณิชชา สิงห์บุระอุดม นักวิจัยในโครงการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดทำหลักเกณฑ์การตรวจประเมินที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญของการใช้สถานที่ในการจัดงาน ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้จัดงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญของมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) ที่สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย อีกทั้งหลักเกณฑ์นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการมีแนวทางในการควบคุม ดูแลคุณภาพของสถานที่และบริการ อีกทั้งยังเป็นสื่อการเรียนรู้ด้านองค์ประกอบและความต้องการในการใช้สถานที่เพื่อจัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งการจัดประชุม การจัดแสดงสินค้า และการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ อีกด้วย ผลที่ได้จากการอบรม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาและในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการตรวจประเมิน พบว่า ผู้ประกอบการมีความสนใจศึกษา และมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ องค์ประกอบ ตัวชี้วัดมาตรฐานสถานที่จัดงานว่ามีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและยังเป็นการจัดการองค์ความรู้ในองค์กรอีกด้วย อย่างเช่นความสำคัญของการจัดทำเอกสาร หลักฐาน การตรวจสอบ ดูแลคุณภาพของแต่ละตัวชี้วัดที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญและเข้าใจวิธีการจัดทำเอกสารดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากจังหวัดไมซ์ซิตี้ ที่ดำเนินกิจการสถานที่ให้บริการจัดงานเริ่มให้ความสำคัญกับการขอเข้ารับการรับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในฐานะที่สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ที่ได้รับมอบหมายจาก ทีเส็บ ให้เป็นผู้ตรวจประเมิน นางพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ หรือ สรอ. กล่าวว่า สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้ดำเนินโครงการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสถาบันฯ ยึดมั่นจรรยาบรรณในการดำเนินงานตามหลักวิชาชีพ รวมถึงการรักษาความลับ การดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นกลางและอย่างมืออาชีพ และดำเนินงานตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17021-1, ISO 50003, UNFCCC Accreditation Standard & ISO/IEC 17020 ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจประเมินและรับรองระบบการจัดการ, ระบบการจัดการพลังงาน, CDM & ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจ และ ISO 19011 แนวทางการตรวจประเมินระบบการจัดการ โดยเกณฑ์การพิจารณามาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ครอบคลุมตัวชี้วัดด้านกายภาพ บริการและการจัดการ เทคโนโลยี ความปลอดภัย การสนับสนุน และการจัดการอย่างยั่งยืน

นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการรับรองผลมาตรฐาน มาตรฐานดังกล่าวมีความสำคัญกับการยกระดับสถานที่จัดงานประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือ ในหลายปีที่ผ่านมามีการเติบโตของจำนวนสถานประกอบการรายใหม่และรายเก่าที่มีการต่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมให้สถานประกอบการไทยเพิ่มศักยภาพในเรื่องของสถานที่จัดงานและในฐานะที่ผมเป็นผู้ใช้บริการ ก่อนเลือกสถานที่การจัดงาน ผมก็มองหาสถานที่ที่มีตราสัญลักษณ์เป็นลำดับต้นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเช่นกัน

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS ประเภทห้องประชุม และประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้ารวมทั้งสิ้น 315 แห่ง และในปีนี้ทีเส็บตั้งเป้าหมายมีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS รวมทั้งสิ้น 175 แห่ง แบ่งเป็นประเภทห้องประชุม 150 แห่ง ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า 5 แห่ง และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ 20 แห่ง คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยมีสถานที่จัดงานไมซ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS รวมทั้งสิ้น 490 แห่ง ภายในสิ้นปี 2561 นี้ ซึ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำของประเทศไทยในด้านจุดหมายปลายทางของจัดประชุมและนิทรรศการของอาเซียน" รองผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นางสาวขวัญชนก อดทน ผู้ปฏิบัติการอาวุโส โทรศัพท์ 02 694 6000 อีเมล [email protected]

นายอิศรา โรจนกุศล เจ้าหน้าที่ประสานโครงการฯ โทรศัพท์ 02 694 6181 อีเมล [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว