ทั้งนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนกล่าวเปิดงาน โดย ได้กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท และ ได้เดินหน้าในการพัฒนาชนบทอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่เมื่อ 4 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้และการบุกรุกที่ดินของรัฐ การปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น การเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 13 ล้านคน การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มคนเหล่านี้ และการแก้หนี้นอกระบบครั้งใหญ่ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาชนบท ผ่านการพัฒนาภาคเกษตร โดยกระทรวงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (2560-2579) โดยมีวิสัยทัศน์ คือ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์และมาตรการดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของไทย และ มีส่วนทำให้ชนบทของประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งการจะดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้ มีการวิจัยเป็นพื้นฐาน งานสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ด้าน นางซุไรดา บินติ กามารุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและรัฐบาลท้องถิ่น, มาเลเซีย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาชนบทของมาเลเซีย" ว่า มาเลเซียมี National Rural Physical Policy 2030 (NRPP) เป็นแผนพัฒนาชนบทโดยเฉพาะฉบับแรก ที่แสดงนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในการบรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาชนบทปี 2573 เป้าหมายของแผนดังกล่าว คือ การเพิ่มจำนวนประชากรในชนบทโดยคงความเป็นชนบทเอาไว้ รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่ชนบทซึ่งสวยงามและเงียบสงบเป็นพื้นที่อยู่อาศัย มีโอกาสในการหางานทำและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แผน NRPP 2030 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทให้เท่าเทียมกับพื้นที่ในเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าประชากรในชนบทจะสะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่เท่าเทียมกับประชากรในเมือง
ทางด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ชี้ว่า การพัฒนาชนบทไม่จำเป็นที่พื้นที่ชนบทจะต้องรักษาความเป็นชนบทอยู่ แต่อาจกลายเป็นเมืองก็ได้ โดยมี 3 เส้นทางการพัฒนา คือ พัฒนาชนบทให้เป็นชนบทที่พัฒนาแล้ว พัฒนาชนบทเป็นเมืองใหม่ และเชื่อมโยงชนบทเข้ากับเมืองที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีประชากรในเมืองสูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรในเมืองเพียงร้อยละ 50 อย่างไรก็ดี การพัฒนาชนบทมีข้อจำกัด หรือมีความขัดแย้งของเป้าหมายหรือทางเลือกในการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง การขยายตัวมักสวนทางกับความเท่าเทียม สอง แนวทางความสำเร็จในบางชุมชน เมื่อนำไปทำกันทั้งประเทศอาจล้มเหลว สาม ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ และสี่ แนวทางการพัฒนาที่รัฐนำ ชุมชนนำ หรือตลาดนำ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ดร.เกรียงศักดิ์ ยังได้เสนอ 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบท ประกอบด้วย
(1) การใช้ทรัพยากรในชนบทให้เต็มศักยภาพแต่ยั่งยืน เช่น การแปลงทรัพยากรเป็นทุน
(2) การส่งเสริมการลงทุนและสะสมทุนทุกประเภท เช่น การส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียน
(3) การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมออกจากชนบท
(4) การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจของชนบท โดยเปลี่ยนชนบทเป็นพื้นที่การบริโภค เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนาเป็นชุมชนของชาวต่างชาติที่เกษียณอายุ
(5) การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น การจัดโซนนิ่งการผลิต และการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น
(6) การใช้เทคโนโลยีพัฒนาชุมชน เช่น การพัฒนาการเกษตรแม่นยำสูง (precision agriculture) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาชนบท
(7) การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาชนบท และความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น และระหว่างชนบทกับเมือง
"หากเราต้องยกระดับความเป็นอยู่ของคนชนบทให้พ้นความยากจน เราต้องทำงานหนักขึ้น ทำงานให้เร็วขึ้น และทำงานให้ฉลาดขึ้น" ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ทิ้งท้าย