นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือและติดตามความก้าวหน้าการบูรณาการการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลว่า ได้เร่งรัดให้ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนผู้ติดต่อเข้ามาผ่านทาง "ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน หรือ GCC 1111" ส่งต่อมายังกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลร้องเรียนที่ได้รับจากระบบฐานข้อมูลของ "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม 1567"
โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนโดยตรงผ่านการร้องเรียนเข้ามายังช่องทางต่างๆ ของสองหน่วยงานข้างต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องใดมากที่สุดเป็นลำด้บต้นๆ ทำให้ทราบปัญหา สนับสนุนการทำงานเชิงรุก และนำไปสู่การออกนโยบายรัฐบาลที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างตรงจุด
ปัจจุบัน สปน. และศูนย์ดำรงธรรม เป็นศูนย์รวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ใหญ่ที่สุด โดยในส่วนของ สปน. ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนผ่าน"ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน หรือ GCC 1111"เข้ามารวมกว่า 200,000 เรื่อง เฉลี่ยปีละกว่า 70,000 เรื่อง โดยมีการจัดประเภทเรื่องของระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ แบ่งเป็น 7 ประเภทเรื่องหลัก 50 ประเภทเรื่องรอง และ 200 ประเภทเรื่องย่อย เพื่อให้ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ
ขณะที่ ศูนย์ดำรงธรรม มีลักษณะของเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องร้องกัน หลายเรื่องต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์เข้ามาทั้งสิ้นกว่า 180,000 เรื่อง มีการบันทึกลงในระบบแล้วกว่า 120,000 เรื่อง แยกเป็น 7 หัวข้อใหญ่ จากฐานข้อมูลพบว่า เรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ เรื่องที่ดิน ตามมาด้วย ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการแจ้งเบาะแสข้อพิพาทต่างๆ
ทั้งนี้ จากการนำเสนอรายงานจากตัวแทนของ สปน. และศูนย์ดำรงธรรม พบว่า มีการร้องเรียนหลายเรื่องที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ เนื่องจากผู้เดือดร้อน เมื่อร้องเรียนกับที่ใดที่หนึ่งไม่คืบหน้า ก็จะร้องเรียนผ่านไปทุกหน่วยงานที่มีช่องทางรับร้องเรียน โดยขาดความเข้าใจกระบวนการทำงานว่าต้องมีการส่งต่อปัญหาร้องเรียนกลับไปในพื้นที่ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาในระดับพื้นที่ แต่ผู้ร้องทำการร้องเรียนเข้ามายังส่วนกลาง นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแต่ละเรื่อง ดังนั้น หากมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลร้องเรียนทั้งสองหน่วยงาน จะทำให้ลดความซ้ำซ้อนของจำนวนปัญหาเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์ลงได้
"เพื่อให้เกิดประโยชน์แท้จริง เราต้องมีข้อมูลที่เป็น Big Data จึงต้องเก็บข้อมูลให้ได้ทั้งหมดเพื่อทำการวิเคราะห์ให้ได้ ตั้งโจทย์ว่าน่าจะออกเป็นนโยบายที่ประชาชนเดือดร้อนเรื่องใดมากสุด เช่น นโยบายการบุกรุกที่ดินของภาคประชาชน ภาครัฐบาลจึงมีการบูรณาการเรื่องการเก็บข้อมูลกัน ทั้งนี้ข้อมูลที่ทั้งสองหน่วยงานส่งเข้ามา ควรต้องเป็นข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน (Correlation) เพื่อสามารถเชื่อมโยงและทำการวิเคราะห์ได้ (Data Analytic)" นางวรรณพรกล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการร้องขอข้อมูลที่เป็นความลับ หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อผู้ร้องเรียน เพื่อไม่ให้มีข้อกังวลเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยโครงการนี้เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบที่ชัดเจนแล้ว กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการผลักดันร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นรูปแบบการใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันฐานข้อมูลภาครัฐที่มีความเข้าใจ และการใช้งานที่ตรงกันของหน่วยงานภาครัฐทุกส่วนเพื่อการให้บริการประชาชนต่อไป