เอเอ็มดีโชว์เทคโนโลยีประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ในงาน Next Horizon

ศุกร์ ๐๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๕:๑๖
— เปิดตัวจีพียู 7 นาโนเมตรรุ่นแรกของโลก สำหรับ Machine Learning และ AI พร้อมสาธิตซีพียู x86 ขนาด 7 นาโนเมตรรุ่นแรกของโลก ขับเคลื่อนด้วยแกนประมวลผล"Zen 2" และดีไซน์ชิปเล็ดที่ก้าวล้ำ —

— Amazon Web Services เปิดตัวอินสแตนซ์เซิร์ฟเวอร์รุ่นยอดนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยโปรเซสเซอร์ AMD EPYC —

เอเอ็มดี (NASDAQ: AMD) ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมด้านการประมวลผลสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่งาน Next Horizon ในนครซานฟรานซิสโก ด้วยการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านการประมวลผลและกราฟิกที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต7 นาโนเมตร ซึ่งเตรียมที่จะวางจำหน่ายในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่นี้ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อขยายขีดความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทันสมัย ภายในงานดังกล่าว เอเอ็มดีได้เปิดเผยข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคอร์โปรเซสเซอร์ "Zen 2" รวมไปถึงดีไซน์ซีพียู x86 แบบใหม่ที่ใช้ชิปเล็ต (Chiplet) และพร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัวจีพียู 7 นาโนเมตร รุ่น AMD Radeon Instinct(TM) MI60 และเปิดให้สาธารณชนได้รับชมการสาธิตเป็นครั้งแรกสำหรับโปรเซสเซอร์ EPYC(TM) ขนาด 7 นาโนเมตร ที่ใช้ขับเคลื่อนเซิร์ฟเวอร์ ภายใต้โค้ดเนม "Rome" ทั้งนี้ Amazon Web Services (AWS) บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ครบวงจรและได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก เข้าร่วมกับเอเอ็มดีในงานดังกล่าว เพื่อเปิดตัวอินสแตนซ์ยอดนิยม 3 รุ่นบนAmazon Elastic Compute Cloud (EC2) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยโปรเซสเซอร์ EPYC(TM) ของเอเอ็มดี

ดร. ลิซ่า ซู ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอเอ็มดี กล่าวว่า "เราได้ลงทุนเป็นระยะเวลาหลายปีในแผนการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ส่งผลให้ซีพียูและจีพียูของเราได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ องค์กรขนาดใหญ่ และลูกค้าที่ใช้ระบบประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC) เรามีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะเร่งการเติบโตสำหรับธุรกิจของเรา ด้วยการนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ซีพียูและจีพียูสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากที่สุดในอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตร ซึ่งจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงไม่กี่ไตรมาสนับจากนี้"

ข้อมูลอัพเดตเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมการประมวลผลของเอเอ็มดี

นับเป็นครั้งแรกที่เอเอ็มดีเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับซีพียู x86 ประสิทธิภาพสูง "Zen 2" ที่เตรียมเปิดตัวในไม่ช้า โดยซีพียูดังกล่าวมาพร้อมกับดีไซน์ระบบแบบแยกส่วน (Modular) ที่แปลกใหม่ ซึ่งใช้การเชื่อมต่อ AMD Infinity Fabric รุ่นปรับปรุง เพื่อเชื่อมโยงแต่ละชิ้นส่วนของซิลิคอน หรือที่เรียกว่า "ชิปเล็ต"(Chiplet) ซึ่งอยู่ภายในแพ็คเกจโปรเซสเซอร์เดียวกัน โปรเซสเซอร์แบบมัลติชิปนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตรสำหรับคอร์ซีพียู "Zen 2" และใช้เทคโนโลยีการผลิต 14 นาโนเมตรสำหรับส่วนอินพุต/เอาต์พุตของชิป ผลลัพธ์ที่ได้คือ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างมาก เพราะมีคอร์ซีพียูมากขึ้น แต่กินไฟเท่าเดิม และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าดีไซน์ชิปแบบเก่าที่รวมทุกอย่างไว้เป็นเนื้อเดียว (Monolithic)

ดีไซน์ที่ก้าวล้ำดังกล่าว บวกกับเทคโนโลยีการผลิตขนาด 7 นาโนเมตรที่เหนือชั้นของ TSMC ทำให้ "Zen 2" มีการปรับปรุงที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเจนเนอเรชั่นก่อนหน้า ทั้งในเรื่องของสมรรถนะ การประหยัดพลังงาน และความหนาแน่น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความต้องการด้านการระบายความร้อนอีกด้วย ส่วนการปรับปรุงที่สำคัญอื่นๆ เมื่อเทียบกับคอร์ "Zen" เจนเนอเรชั่นแรก มีดังนี้:

- มีการปรับปรุง Execution Pipeline เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลคำสั่ง

- การพัฒนาส่วน Front-end – ปรับปรุง Branch Predictor ปรับปรุงการดึงคำสั่งจากแคช (Instruction Pre-fetching) ปรับแต่งแคชคำสั่ง และ Op Cache มีขนาดใหญ่ขึ้น

- ปรับปรุงจุดลอยตัว (Floating Point) – ขยายจุดลอยตัวสองเท่าเป็นแบบ 256 บิต รวมถึงแบนด์วิธการโหลด/จัดเก็บ เพิ่มแบนด์วิธDispatch/Retire และรักษาอัตราการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงสำหรับทุกโหมด

- ฟีเจอร์ความปลอดภัยขั้นสูง – ป้องกันมัลแวร์ Spectre โดยอาศัยฮาร์ดแวร์ ปรับปรุงการโยกย้ายซอฟต์แวร์และรวมไว้ในการออกแบบ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้ารหัสหน่วยความจำ

เอเอ็มดีกำลังดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 7nm เช่น ซีพียู AMD EPYC และจีพียู AMD Radeon Instinct ซึ่งเอเอ็มดีได้เปิดเผยรายละเอียดและสาธิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในงาน Next Horizon นอกจากนี้ เอเอ็มดียังเปิดเผยว่าบริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาสถาปัตยกรรมคอร์ x86 รุ่น"Zen 3" และ "Zen 4" ซึ่งใช้เทคโนโลยี 7nm+ ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลอัพเดตเกี่ยวกับซีพียู AMD EPYC สำหรับเซิร์ฟเวอร์

เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของโปรเซสเซอร์ AMD EPYC เจนเนอเรชั่นปัจจุบัน แมทท์ การ์แมน รองประธานฝ่ายบริการประมวลผลของ AWS เข้าร่วมกับเอเอ็มดีบนเวทีภายในงาน Next Horizon เพื่อเปิดตัวอินสแตนซ์เซิร์ฟเวอร์รุ่นแรกที่ใช้โปรเซสเซอร์ AMD EPYC บน Amazon Elastic Compute Cloud (EC2) โดยเป็นส่วนหนึ่งในตระกูลอินสแตนซ์ยอดนิยมของ AWS อินสแตนซ์รุ่นใหม่ที่ใช้โปรเซสเซอร์ AMD EPYC มีความหนาแน่นของคอร์ประมวลผลและแบนด์วิธหน่วยความจำระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม จึงมอบประสิทธิภาพต่อดอลลาร์ที่เหนือกว่าสำหรับเวิร์กโหลดทั่วไปและเวิร์กโหลดหน่วยความจำแบบเพิ่มประสิทธิภาพ ความหนาแน่นของคอร์ประมวลผลในโปรเซสเซอร์ AMD EPYC ช่วยให้ลูกค้าที่ใช้อินสแตนซ์ M5a และ T3a ได้รับประโยชน์จากสมดุลของทรัพยากรการประมวลผล หน่วยความจำ และทรัพยากรเครือข่ายสำหรับเว็บแอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์, แบ็คเอ็นด์เซิร์ฟเวอร์สำหรับแอพพลิเคชั่นองค์กร และสภาพแวดล้อมการทดสอบ/การพัฒนา โดยรองรับการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นอย่างไร้รอยต่อ สำหรับลูกค้าที่ใช้อินสแตนซ์ R5a แบนด์วิธหน่วยความจำที่เหนือกว่าของโปรเซสเซอร์ AMD EPYC เหมาะสำหรับการประมวลผลในหน่วยความจำ การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) และการประมวลผลข้อมูลแบบไดนามิก

นอกจากนี้ เอเอ็มดีได้เปิดเผยรายละเอียดใหม่ๆ รวมถึงการพรีวิวประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์ EPYC รุ่นถัดไป ภายใต้โค้ดเนม "Rome":

- การปรับปรุงโปรเซสเซอร์ รวมถึงคอร์ "Zen 2" สูงสุด 64 คอร์ การเพิ่มคำสั่งต่อรอบ[i] และแบนด์วิธการประมวลผล, I/O และหน่วยความจำที่เหนือชั้น[ii]

- การปรับปรุงแพลตฟอร์ม รวมถึงโปรเซสเซอร์เซิร์ฟเวอร์ x86 รุ่นแรกในแวดวงอุตสาหกรรมที่รองรับ PCIe 4.0 พร้อมแบนด์วิธต่อแชนเนลเพิ่มขึ้นสองเท่า[iii] ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการเร่งความเร็วของดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างมาก

- ประสิทธิภาพการประมวลผลต่อซ็อกเก็ตเพิ่มขึ้นสองเท่า[iv] และประสิทธิภาพการคำนวณจุดลอยตัวต่อซ็อกเก็ตเพิ่มขึ้นสี่เท่า[v] เมื่อเทียบกับโปรเซสเซอร์ AMD EPYC รุ่นปัจจุบัน

- เข้ากันได้กับซ็อกเก็ตของแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์ AMD EPYC รุ่นปัจจุบัน

เอเอ็มดีได้สาธิตประสิทธิภาพและความได้เปรียบด้านแพลตฟอร์มของโปรเซสเซอร์ EPYC รุ่นถัดไป โดยทำการสาธิตสองชุดภายในงาน Next Horizon:

- โปรเซสเซอร์ AMD EPYC แบบซ็อกเก็ตเดียวรุ่นถัดไป มีสมรรถนะเหนือกว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ดูอัลโปรเซสเซอร์ Xeon รุ่นท็อปที่วางจำหน่ายในปัจจุบันจากอินเทล ตามผลการทดสอบด้วยการรันเบนช์มาร์ก "C-Ray" ซึ่งใช้การคำนวณอย่างหนักหน่วงตามมาตรฐานอุตสาหกรรม[vi]

- การสาธิตแพลตฟอร์ม x86 รุ่นแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับ PCIe 4.0 ซึ่งใช้โปรเซสเซอร์ Radeon Instinct MI60 เพื่อเร่งความเร็วในการจดจำรูปภาพ

โปรเซสเซอร์ "Rome" อยู่ระหว่างการทดลองใช้งานโดยลูกค้า และคาดว่าจะเป็นซีพียู x86 แบบประสิทธิภาพสูงรุ่นแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี 7nm

ข้อมูลอัพเดตเกี่ยวกับจีพียูของเอเอ็มดีสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์

เอเอ็มดีเปิดตัวจีพียูขนาด 7nm รุ่นแรกของโลก และเป็นจีพียูหนึ่งเดียวที่มีการทำเวอร์ช่วลไลซ์บนฮาร์ดแวร์ นั่นคือ AMD Radeon Instinct MI60 และMI50 ซึ่งจะเริ่มจัดส่งให้แก่ลูกค้าในช่วงไตรมาสนี้ การ์ดแสดงผลรุ่นใหม่เหล่านี้ใช้สถาปัตยกรรม "Vega" ที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น และออกแบบเป็นพิเศษสำหรับระบบ Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI) โดยยกระดับประสิทธิภาพสำหรับการคำนวณจุดลอยตัว (floating-point)[vii] พร้อมสมรรถนะการทำงานที่เหนือกว่า[viii] และฟีเจอร์ใหม่ๆ สำหรับการใช้งานในดาต้าเซ็นเตอร์ การสาธิตที่ดำเนินการภายในงานดังกล่าวแสดงให้เห็นการทำงานของจีพียูรุ่นเรือธง AMD Radeon Instinct MI60 สำหรับการฝึกสอนระบบแบบเรียลไทม์ การอนุมาน และการจำแนกรูปภาพ

นอกเหนือจากการเปิดตัวฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ แล้ว เอเอ็มดียังได้เผยโฉม ROCm 2.0 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์แบบเปิดรุ่นใหม่สำหรับเร่งความเร็วในการประมวลผล โดยประกอบด้วยไลบรารีคณิตศาสตร์ใหม่ๆ การรองรับเฟรมเวิร์กของซอฟต์แวร์อย่างกว้างขวางมากขึ้น และการดำเนินการด้าน Deep Learning ที่ปรับปรุงดีขึ้น นอกจากนั้น ROCm 2.0 ยังถูกรวมเข้าไว้ในเคอร์เนลของ Linux ช่วยให้ผู้พัฒนาและผู้ใช้ Linux หลายล้านคนสามารถเข้าถึง ROCm ทั้งนี้ ROCmออกแบบเป็นพิเศษเพื่อรองรับการปรับขนาดของระบบ ช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตั้งระบบประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่มีความหลากหลาย (Heterogeneous) และประหยัดพลังงาน ในสภาพแวดล้อมแบบเปิด

สามารถดูพรีเซนเทชั่นจากงานดังกล่าวได้ที่ www.amd.com/NextHorizon โดยจะสามารถเล่นวิดีโอทั้งหมดได้ใน 12 ชั่วโมง และเปิดให้รับชมเป็นเวลาหนึ่งปี

ข้อมูลเพิ่มเติม

- เยี่ยมชมเว็บเพจของงาน Next Horizon เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรม

- ติดตามแฟนเพจของเอเอ็มดีบนเฟซบุ๊ก

- ติดตามเอเอ็มดีบนทวิตเตอร์

เกี่ยวกับ AMD

เป็นเวลากว่า 45 ปีที่ AMD ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในส่วนของการประมวลผลกราฟิก และเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับวงการเกม เป็นแพลตฟอร์มระดับมืออาชีพ และเป็นศูนย์กลางข้อมูล ผู้บริโภคหลายร้อยล้านคน องค์กรธุรกิจชั้นนำที่จัดอยู่ในกลุ่มFortune 500 และหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทั่วโลก ต่างใช้เทคโนโลยีของ AMD เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต การทำงาน และความบันเทิง พนักงานของ AMD ทุกคนทั่วโลกล้วนมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะก้าวข้ามขอบเขตของข้อจำกัดทั้งหลาย ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AMD (NASDAQ: AMD) และกระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เราทำในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ที่เว็บไซต์ website, blog,Facebook และ Twitter

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๒ อาลีเพย์พลัสขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านการชำระเงินเป็น 35 ราย เชื่อมโยงผู้ค้ากับนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกันผ่านการชำระเงินบนมือถือ การขายของในแอปพลิเคชัน
๑๕:๓๙ ยกระดับบริการหลังการขายขึ้นอีกขั้นกับ Volvo Mobile Service เพียงนัดหมาย เราพร้อมให้บริการถึงหน้าบ้านคุณ
๑๕:๓๔ ประกาศราคาไทย HUAWEI Mate X6 สมาร์ทโฟนนแบบพับได้ระดับท็อป โฉบเฉี่ยวแต่แข็งแกร่ง พร้อมกล้องเพื่อการถ่ายรูปที่สมบูรณ์แบบ
๑๕:๒๔ มหัศจรรย์แห่งเฟสทีฟกลางลมหนาว ที่ห้างหรูในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล
๑๕:๑๘ บี.กริม เพาเวอร์ ครองตำแหน่งเรตติ้งสูงสุด SET ESG Rating ระดับ AAA และอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน 7 ปีซ้อน ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม
๑๔:๐๑ ธนาคารกรุงเทพ สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ 40,000 ล้านบาท แนะลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
๑๔:๔๘ เที่ยวไทยสุขใจ ไทยพาณิชย์ โพรเทค มอบของขวัญปีใหม่ 2568 แจกฟรี! ประกันบ้านหรืออุบัติเหตุ 50,000 สิทธิ์
๑๕:๒๕ เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ร่วมงานเลี้ยงการกุศล ส่งเสริมความเสมอภาคและโอกาสในสังคม
๑๕:๔๗ คณะผู้บริหารและพนักงาน ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล เยี่ยมชมโรงงาน 1NUO ที่ประเทศจีน
๑๔:๔๕ TFM เปิดแผนผลิตกุ้งยั่งยืน ดันไทยชิงโอกาสในตลาดโลก ชูนวัตกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน