เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองในทำนองวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหรือการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารจัดเป็นเพลงประเภทที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน บางเพลงได้รับความสนใจและถูกพูดถึงในสังคมกันเป็นวงกว้างทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ขณะที่บางเพลงไม่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากนัก
โดยในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารกันเป็นวงกว้าง ผู้คนส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของเนื้อหาและการเผยแพร่ ขณะที่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่าเป็นศิลปะทางด้านดนตรีที่สื่อถึงกระแสสังคมในช่วงเวลานั้นๆ รวมถึงเป็นสิทธิเสรีภาพในการแต่งและเผยแพร่
อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนมากได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการปัญหาการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารในสังคมไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เผยแพร่เพลงที่สื่อถึงผลงานของรัฐบาลออกมาจึงทำให้ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์เชิงเปรียบเทียบกับเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองก่อนหน้า จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเผยแพร่เพลงแนวเสียดสีทางการเมืองและเพลงแนวสองแง่สองง่ามกับผลกระทบในสังคม
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.37 ขณะที่ร้อยละ 49.63 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 28.49 ระบุว่าตนเองรู้สึกตลกขบขันเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมือง รองลงมารู้สึกเฉยๆคิดเป็นร้อยละ 23.7 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.95 รู้สึกว่าไร้สาระ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.08 ร้อยละ 8.42 ร้อยละ 6.85 และร้อยละ 5.7 รู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญ รู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริง รู้สึกแปลกใจ และรู้สึกโกรธ/โมโหตามลำดับ โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.81 มีความรู้สึกอื่นๆ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รู้สึกรังเกียจและรู้สึกตกใจเป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.82 และร้อยละ 24.53 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.19 ระบุว่าตนเองรู้สึกโกรธ/โมโหเป็นอันดับแรก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.67 ร้อยละ 6.61 และร้อยละ 5.45 รู้สึกตลกขบขัน รู้สึกไร้สาระ และรู้สึกเบื่อหน่าย/รำคาญตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.39 มีความรู้สึกอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.34 รู้สึกเฉยๆ
ในด้านความคิดเห็นต่อการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจาร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 81.42 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองและเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.15 ไม่เห็นด้วยว่าเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารเป็นเสน่ห์ของความเป็นเพลงลูกทุ่งไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.43 เห็นด้วยว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองโดยไม่มีเนื้อหาเป็นภัยกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับความคุ้มครอง
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.44 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีพฤติกรรม/การทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ส่งผลกระทบกับความสงบเรียบร้อย/ความมั่นคงโดยรวมของประเทศได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.75 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีพฤติกรรม/การทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ส่งผลทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดีกับประเทศ (ชังชาติ) แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.17 มีความคิดเห็นว่าข่าวการจะเอาผิดทางกฎหมายกับผู้แต่ง/ผู้เผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองมีส่วนทำให้ผู้คนให้ความสนใจไปหาฟังเพลงนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.59 เห็นด้วยว่าข่าวการจะเอาผิดทางกฎหมายกับผู้แต่ง/ผู้เผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีทางการเมืองจะส่งผลกระทบทางลบกับภาพพจน์ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.04 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารจะมีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่แสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้นได้ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีการทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐกับเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจาร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.09 มีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามส่อไปในทางลามกอนาจารมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.53 ระบุว่าควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงทั้งสองประเภท ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.9 มีความคิดเห็นว่าควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีการทำงานของรัฐบาล/เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.48 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรเอาผิดทางกฎหมายกับเพลงทั้งสองประเภทเลย
ในด้านความคิดเห็นต่อเพลงแรป "Thailand 4.0" กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.74 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่เพลงแรป "Thailand 4.0" ของรัฐบาลจะได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าไปติดตามชมน้อยกว่าเพลงแรป "ประเทศกูมี" ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.35 มีความคิดเห็นว่าได้รับความสนใจเท่าๆกัน และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 8.42 มีความคิดเห็นว่าจะได้รับความสนใจมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.49 ไม่แน่ใจ
และสำหรับความคิดเห็นต่อเพลง "ประเทศกูมี" และเพลง "Thailand 4.0" กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.55 เชื่อว่าเพลง "ประเทศกูมี" กับเพลง "Thailand 4.0" จะค่อยๆหายไปจากการพูดถึงในสังคมภายในระยะเวลาไม่นาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.26 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.19 ไม่แน่ใจ (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2yXfvRC)